คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 244/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่ดินซึ่งหวงห้ามตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพพ.ศ. 2485จะโอนแก่กันในระหว่างที่ยังเป็นที่หวงห้ามอยู่ไม่ได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ฎีกาของโจทก์คงมีปัญหาข้อกฎหมายประการเดียวว่า นางเยื้อนมารดาจำเลยมีสิทธิโอนการครอบครองที่พิพาทให้โจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาได้ความว่าที่พิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าอยู่ในเขตหวงห้ามตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร และอำเภอบางขุนเทียนจังหวัดธนบุรี พุทธศักราช 2483 ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้บัญญัติไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าหักร้าง จัดทำหรือปลูกสร้างใด ๆ ในที่ดินที่หวงห้าม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ ต่อมาทางราชการได้ออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมเกลือในจังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดธนบุรี พุทธศักราช 2485 พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พุทธศักราช 2485 พระราชกฤษฎีกา จัดตั้งนิคมกสิกรรมและนิคมเกลือในรูปสหกรณ์ในจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดธนบุรี และจังหวัดสมุทรปราการพ.ศ. 2500 และพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ซึ่งที่พิพาทตกอยู่ในความควบคุมของพระราชกฤษฎีกาและพระราชบัญญัติดังกล่าวตลอดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2483 แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า นางเยื้อนครอบครองที่พิพาทมาก่อนพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามในท้องที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร และอำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรีพุทธศักราช 2483 ประกาศใช้ และนางเยื้อนและจำเลยจะมิได้สมัครเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์บ้านไร่ซึ่งที่พิพาทตั้งอยู่ก็ตาม แต่ที่พิพาทก็ตกเป็นที่หวงห้ามแล้วหนังสือมอบสิทธิการครอบครองที่นางเยื้อนทำให้โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.6(ฉบับแรก) ลงวันที่ 12 มีนาคม 2511 ขณะนั้นพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พุทธศักราช 2485 ยังใช้บังคับอยู่ พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พุทธศักราช 2485 มาตรา 7 มาตรา 8 และมาตรา 9 บัญญัติไว้ว่า เมื่อผู้เข้าครอบครองได้ทำประโยชน์ในที่ดินในนิคมและปฏิบัติการอื่น ๆ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ออกหนังสือเป็นสำคัญว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นแล้วผู้นั้นมีสิทธิจะได้รับโฉนดหรือตราจองที่ดินที่ได้รับโฉนดหรือตราจองดังกล่าวถือว่าพ้นจากการเป็นที่หวงห้าม และภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือสำคัญผู้ที่ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวจะโอนให้ผู้อื่นไม่ได้นอกจากการตกทอดทางมรดก การที่นางเยื้อนโอนการครอบครองที่พิพาทให้โจทก์ขณะที่พิพาทยังเป็นที่หวงห้ามอยู่ จึงขัดต่อพระราชบัญญัติดังกล่าว นางเยื้อนไม่มีสิทธิโอนการครอบครองให้โจทก์ได้”

พิพากษายืน

Share