แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นบุตรของนาง ศ. จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทส่วนของนาง ศ. เมื่อโจทก์ไปขอให้จำเลยดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทแก่โจทก์แต่จำเลยเพิกเฉย ถือว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
แม้จำเลยจะเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเพียงผู้เดียวก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกับนาง ศ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท นาง ศ. ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่ง และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการบ่งชี้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทแต่อย่างใด การที่จำเลยครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จึงเป็นการครอบครองไว้แทนนาง ศ. เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมด้วย
โจทก์เป็นบุตรของนาง ศ. ผู้ตาย จึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1) มีสิทธิรับมรดกของนาง ศ. ส่วนจำเลยเป็นเพียงพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนาง ศ. เป็นทายาทโดยธรรมในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของนาง ศ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกรายนี้ และโจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยผู้ครอบครองแทน กรณีมิใช่เรื่องเรียกร้องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดก จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง มาตัดฟ้องโจทก์ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่า โจทก์เป็นบุตรของนางศรีหรือสี นางศรีหรือสีถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยในที่ดินโฉนดเลขที่ 3882 นางศรีหรือสีถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2525 ต่อมาวันที่ 29 มิถุนายน 2541 ศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางศรีหรือสี โจทก์ประสงค์จะจดทะเบียนรับโอนที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของนางศรีหรือสี ได้เรียกให้จำเลยซึ่งยึดถือโฉนดที่ดินอยู่ส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวให้โจทก์เพื่อดำเนินการ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 3882 แก่โจทก์เพื่อนำไปจดทะเบียนรับโอนที่ดินส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนางศรีหรือสี และแบ่งแยกที่ดินให้จำเลยตามส่วน หากจำเลยไม่ส่งมอบโฉนดที่ดินและไม่ไปลงชื่อรับการแบ่งแยก ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากโจทก์จำเลยไม่สามารถแบ่งแยกที่ดินกันได้ ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันกันตามส่วน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยดำเนินการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 3882 ให้โจทก์กึ่งหนึ่ง หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากโจทก์จำเลยไม่สามารถแบ่งที่ดินดังกล่าวได้ ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันกันตามส่วน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน แต่ค่าธรรมเนียมศาลในศาลชั้นต้นที่จำเลยจะต้องใช้แทนโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น ให้จำเลยชำระต่อศาลในนามของโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่าจำเลยและนางศรีหรือสี เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 3882 นางศรีหรือสีถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2525 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นบุตรของนางศรีหรือสี จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทส่วนของนางศรีหรือสี เมื่อโจทก์ไปขอให้จำเลยดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทแก่โจทก์แต่จำเลยเพิกเฉย ถือว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า ก่อนถึงแก่ความตายนางศรีหรือสียังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยในที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเพียงผู้เดียวก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกับนางศรีหรือสีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ทางนำสืบของจำเลยก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการบ่งชี้จำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทแต่อย่างใด การที่จำเลยครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงเป็นการครอบครองไว้แทนนางศรีหรือสีเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมด้วย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นบุตรของนางศรีหรือสีผู้ตาย จึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1) มีสิทธิรับมรดกของนางศรีหรือสีส่วนจำเลยเป็นเพียงพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางศรีหรือสี เป็นทายาทโดยธรรมในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของนางศรีหรือสีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกรายนี้ และโจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยผู้ครอบครองแทน กรณีมิใช่เรื่องเรียกร้องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดก จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง มาตัดฟ้องโจทก์ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.