คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2431/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลจะมีอำนาจสั่งให้บุคคลใดออกไปจากที่ดินของรัฐนั้นต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาว่า บุคคลดังกล่าวได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ แล้ว เมื่อที่พิพาทยังไม่อาจฟังได้แน่ชัดว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์และจำเลยยึดถือครอบครองอยู่โดยเชื่อว่าตนมีสิทธิครอบครองต่อจากบิดา จึงไม่เป็นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลไม่อาจสั่งให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่พิพาทได้
การที่จำเลยไม่ยอมออกจากที่พิพาทตามคำสั่งของนายอำเภอเพราะเชื่อว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกันกับที่วินิจฉัยมาแล้วว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 แม้ปัญหานี้ยุติแล้วในศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา215 และ 225.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๖ ต่อเนื่องมาจนถึงวันฟ้อง จำเลยกับพวกบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองและปลูกสร้างบ้านในที่ดินสาธารณประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาตและขัดคำสั่งของนายอำเภอที่ให้จำเลยกับพวกออกไปจากที่ดินดังกล่าวขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙, ๑๐๘ ทวิ ประมวลกฎหมายอาญมาตรา ๓๖๒, ๓๖๓, ๓๖๕, ๓๖๘ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๙๖ ลงวันที่๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕ ข้อ ๑๑ ให้จำเลยกับบริวารออกจากที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าวด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๙, ๑๐๘ ทวิ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๖๕ เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๕ จำคุก๓ เดือน ปรับ ๑,๐๐๐ บาท และผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๘ อีกกรรมหนึ่งลงโทษปรับ ๕๐๐ บาท รวมจำคุก ๓ เดือน ปรับ ๑,๕๐๐ บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ๑ ปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ ให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินสาธารณะตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญมาตรา ๓๖๘ วรรคแรกเพียงกระทงเดียว ข้อหาอื่นและที่ให้จำเลยกับบริวารออกจากที่พิพาทนั้นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๑๐๘ วรรคสี่บัญญัติวไว้ว่า ในกรณีมีคำพิพากษาว่าผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรานี้ ศาลมีอำนาจสั่งในคำพิพากษาให้ผู้กระทำผิด คนงาน ผู้รับจ้างผู้แทนและบริวารของผู้กระทำผิดออกไปจากที่ดินนั้นด้วย ตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้ ศาลมีอำนาจสั่งให้จำเลยออกไปจากที่พิพาทได้ กรณีต้องเป็นเรื่องที่ศาลพิพากษาว่าจำเลยได้กระทำผิด แต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิด กรณีไม่ต้องตามบทกฎหมายดังกล่าวที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำขอของโจทก์ที่ขอให้สั่งจำเลยและบริวารออกจากที่พิพาทเสียนั้น จึงชอบแล้ว
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยครอบครองที่พิพาท โดยเชื่อว่ามีสิทธิครอบครองต่อมาจากบิดา ทั้งยังไม่อาจพิสูจน์ได้แน่ชัดว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ จำเลยไม่มีเจตนาบุกรุก การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ดังนั้นการที่จำเลยไม่ยอมออกจากที่พิพาทตามคำสั่งของนายอำเภออันเนื่องมาจากจำเลยเชื่อว่า จำเลยมีสิทธิครอบครองในที่พิพาท การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานเช่นเดียวกัน แม้ปัญหานี้ยุติแล้วในศาลอุทธรณ์แต่ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๘๕ ประกอบมาตรา ๒๑๕, ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๖๘ เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share