คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2428/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบให้จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 นำมาแลกเงินสดจากโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้เงินตามเนื้อความในเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 900,914,989ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 3 นำเช็คพิพาทและเงินสดจากโจทก์ไปโดยโจทก์หักเป็นค่าดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ก็ตามก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 จะอ้างมาเพื่อไม่ต้องรับผิดหาได้ไม่ ดังนี้ เมื่อโจทก์ผู้ทรงเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้จัดการมีอำนาจลงลายมือชื่อประทับตราบริษัทผูกพันจำเลยที่ 2 โจทก์ได้รับเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาถนนตะนาว2 ฉบับ จากจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 นำมาแลกเงินสดจากโจทก์ สั่งจ่ายเงิน 93,400 บาท และ 43,500 บาท จำเลยที่ 1 ลงชื่อสั่งจ่ายเช็คทั้งสองฉบับนั้น โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงชื่อสลักหลังเช็คฉบับแรกและจำเลยที่ 3 ลงชื่อสลักหลังเช็คฉบับยยที่สองด้วย โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเช็คดังกล่าว ถึงกำหนดชำระเงินโจทก์นำเช็คทั้งสองฉบับเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับแรกและฉบับที่สอง ขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 3ร่วมกันชำระต้นเงินตามเช็คทั้งสองฉบับจำนวน 136,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าว รวมเป็นเงินจำนวน 141,682 บาท ให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดด้วยในจำนวนเงิน 93,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน รวมเป็นเงินจำนวน 96,662 บาท ให้แก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 136,900 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระชำระเสร็จแก่โจทก์ด้วย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้โอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 3 ไม่เคยลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาท ตราที่ประทับเช็คพิพาทไม่ใช่ตราของจำเลยที่ 2โจทก์ไม่อยู่ในฐานะที่จะให้บุคคลใดแลกเงินสดได้ โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์นำเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาฟ้องจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริต โดยโจทก์คบคิดกับบุคคลอื่นฉ้อฉลจำเลยที่ 1โจทก์รับสมอ้างเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 แทนบุคคลภายนอก โดยโจทก์กับบุคคลภายนอกหาได้มีมูลหนี้ต่อกัน และโจทก์มิได้รับโอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาโดยการชำระหนี้ เช็คพิพาททั้งสองเป็นเช็คที่ผู้มีชื่อได้ยืมไปจากจำเลยที่ 1 โดยไม่มีมูลหนี้ต่อกัน อ้างว่าจะนำไปอวดบุคคลอื่นเพื่อผลทาการค้าของผู้มีชื่อแล้วจะนำมาคืนให้จำเลยที่ 1แต่หลังจากยืมแล้วผู้มีชื่อหลบหนีไปโดยไม่ยอมคืนเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้จำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.2 จำนวน 93,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2528 ซึ่งเป็นวันที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่าย และถือว่าจำเลยเริ่มผิดนัดจนถึงวันฟ้อง (วันที่ 25กุมภาพันธ์ 2528) (ที่ถูกคือวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2529) แต่ไม่ให้เกิน 3,262 บาท ตามโจทก์ขอ กับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.4 จำนวน 43,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 กันยายน 2528 จนถึงวันฟ้องแต่ไม่ให้เกิน1,520 บาท ตามที่ขอ และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวในต้นเงินตามเช็คที่จะต้องรับผิดแต่ละฉบับนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเงินตามเช็คฉบับนั้น ๆ เสร็จ และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์จำเลยที่ 3 เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.2 จำนวน 93,400 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 9 กันยายน 2528 เป็นต้นไปจนถึงวันฟ้อง (25 กุมภาพันธ์ 2529)นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้จำเลยที่ 1ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาทแทนโจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วมีปัญหาว่า โจทก์มิได้รับโอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาจากจำเลยที่ 3 และโจทก์มิใช่ผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสองฉบับ โดยชอบด้วยกฎหมาย ตามฎีกาของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ข้อนี้ตัวจำเลยที่ 1 ได้ยอมรับอยู่แล้วว่า เช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2และ จ.4 เป็นเช็คเงินสด ซึ่งพิจารณาตัวเช็คดังกล่าวแล้วปรากฏว่าเช็คพิพาททั้งสองฉบับนั้นเป็นเช็คสั่งจ่ายเงินสดหรือผู้ถืออันถือว่าเป็นเช็คที่หใ้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 918 ประกอบด้วยมาตรา 989 นั้นการโอนเช็คตที่สั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือดังกล่าวย่อมทำได้เพียงด้วยส่งมอบเช็คนั้นให้กัน โดยไม่ต้องมีการสลักหลังแต่อย่างใด และในข้อนี้ตัวโจทก์เบิกความว่าโจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาจากจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 นำมาแลกเงินสดกับโจทก์เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2528 จำเลยที่ 1 เองเบิกความว่าจำเลยที่ 3 ยืมเช็คพิพาททั้งสองฉบับไปจากจำเลยที่ 1 เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2528 โดยจำเลยที่ 1 ได้ลงรายการในเช็คพิพาทครบถ้วนแล้ว ที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่าโจทก์ไม่ได้รับโอนเช็คพิพาทมาจากจำเลยที่ 3 นั้นก็เป็นเพียงความเข้าใจของจำเลยที่ 1 เท่านั้นว่าจำเลยที่ 3 อาจไม่ได้โอนเช็คพิพาทและตราที่ประทับอาจมิใช่ตราของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่มีพยานผู้รู้เห็นการโอนโดยเฉพาะจำเลยที่ 3มายืนยันสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เมื่อเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คผู้ถืออยู่ในความครอบครองของโจทก์ข้อนำสืบของโจทก์ว่าเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทนั้นจึงมีน้ำหนักดีกว่า ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้มอบเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้โจทก์ดังนั้นแม้จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับนั้นหรือไม่ก็ตาม ก็ถือได้ว่าโจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาจากจำเลยที่ 3 แล้ว ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ตรงตามฟ้อง หาใช่ข้อเท็จจริงที่ต่างจากฟ้องดังที่จำเลยฎีกาไม่ โจทก์จึงเป็นผู้ถือและเป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสองฉบับดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 904 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาในทำนองว่าโจทก์ยอมรับว่าโจทก์ได้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของเงินในเช็คที่นำมาขายลดให้โจทก์ ซึ่งโจทก์ได้หักดอกเบี้ยไว้ก่อน แสดงว่าโจทก์จ่ายเงินไม่ครบตามจำนวนเนื้อความแห่งเช็คพิพาททั้งสองฉบับเช็คพิพาททั้งสองฉบับจึงมีดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนซึ่งเป็นอัตราที่ผิดกฎหมายรวมอยู่ด้วย โจทก์ไม่มีสิทธินำเช็คพิพาททั้งสองฉบับที่มีดอกเบี้ยผิดกฎหมายรวมอยู่ด้วยมาฟ้องบังคับเอาแก่จำเลยที่ 1 ได้นั้น เห็นว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับมอบให้จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 นำมาแลกเงินสดจากโจทก์จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้เงินตามเนื้อความในเช็คนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900, 914, 989 จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าจำนวนเงินในเช็คมีดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายรวมอยู่ด้วยจึงไม่ต้องรับผิดหาได้ไม่ เพราะการที่โจทก์จะจ่ายเงินให้จำเลยที่ 3ในการนำเช็คพิพาทไปแลกเงินสดเท่าจำนวนเงินในเช็คพิพาททั้งสองฉบับหรือไม่ เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 เมื่อโจทก์ผู้ทรงเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับไม่ได้เพราะธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้เงินตามจำนวนในเช็คเอกสารหมาย จ.2 และ จ. 4 พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี…”
พิพากษายืน.

Share