คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2426/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุ และให้ผู้อื่นยืมไปใช้ทอดกฐิน โดยจำเลยที่ 1 สั่งให้ส.ซึ่งเป็นลูกจ้างมีหน้าที่ขับรถให้จำเลยที่ 1 เป็นประจำอยู่แล้วขับไป ระหว่างทางไปทอดกฐิน ส.ขับรถโดยประมาททำให้คนตาย ถือได้ว่าส.ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง แม้ผู้ยืมจะให้เงินแก่ ส.ที่มาขับรถให้ หรือแม้รถของจำเลยที่ 1 จะเป็นรถประจำทางไม่ได้รับสัมปทานให้วิ่งในเส้นทางที่ไปทอดกฐินและการให้ยืมไม่ใช่วัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ผู้ให้ยืมก็ตามจำเลยที่ 1 ก็ต้องร่วมรับผิดฐานละเมิดกับ ส.ด้วย โดยไม่คำนึงว่าในวันเกิดเหตุรถชนกันนั้นจะเป็นวันหยุดของ ส.หรือไม่

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน

โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องใจความว่า จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและเป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน กท.จ.4043มีนายสมหวัง พุ่งพวง เป็นลูกจ้างและขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ร.ย.04557 มีนายเซ่งเป็นลูกจ้างและขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2513 เวลากลางวัน นายสมหวัง พุ่มพวง ได้ขับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน กท.จ.4043 บรรทุกผู้โดยสารจากกรุงเทพฯไปตามถนนสุขุมวิท เพื่อไปทอดกฐินยังวัดกลางกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยองขณะแล่นไปตามถนนระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 129 – 130 ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา เป็นทางโค้ง นายสมหวัง พุ่มพวง ได้ขับรถดังกล่าวด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง กล่าวคือขับด้วยความเร็วสูง ซึ่งขณะนั้นนายเซ่งได้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ร.ย.04557 จากจังหวัดระยองมาตามถนนสุขุมวิทโฉมหน้าเข้ากรุงเทพฯ ด้วยความเร็วสูงเมื่อถึงทางโค้งเช่นกัน จึงเป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคัน ดังกล่าวชนกันอย่างแรงและพังเสียหายยับเยินเป็นเหตุให้คนตาย การที่ผู้ตายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายซึ่งจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดชอบในผลแห่งละเมิดโจทก์แต่ละสำนวนได้ติดต่อให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองแต่ละสำนวนร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์สำนวนแรกเป็นเงิน 140,000บาท โจทก์สำนวนที่สองเป็นเงิน 250,000 บาท และโจทก์สำนวนที่สามเป็นเงิน206,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินแต่ละสำนวนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ทั้งสามสำนวนให้การใจความว่า นายสมหวัง พุ่มพวง เคยเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 แต่ในวันเกิดเหตุรถชนกันนั้น พนักงานธนาคารกรุงไทย จำกัดได้ยืมรถจากจำเลยที่ 1 ไป โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินหรือค่าตอบแทนใด ๆ และยังได้ตกลงว่าจ้างนายสมหวัง พุ่มพวง เป็นคนขับรถโดยต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานธนาคารกรุงไทย จำกัด นายสมหวัง พุ่มพวง ได้ขับรถไปด้วยความระมัดระวังและความเร็วตามปกติ เมื่อรถแล่นไปถึงทางโค้งก็ได้ชะลอความเร็วลง เหตุที่รถชนกันขึ้นเป็นเพราะความผิดของรถยนต์บรรทุกที่แล่นสวนทางมาด้วยความเร็วสูงและด้วยความประมาท พุ่งเข้าชนรถคันนายสมหวัง พุ่มพวง ขับ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินไป และคดีโจทก์ขาดอายุความ

จำเลยที่ 2 ทั้งสามสำนวนให้การต่อสู้ว่า เหตุที่รถเกิดชนกันขึ้นเป็นเพราะความประมาทของนายสมหวัง พุ่มพวง

ก่อนวันนัดชี้สองสถาน จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทสินสวัสดิ์ประกันภัย จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์สำนวนแรก 35,400บาท โจทก์สำนวนที่สอง 142,000 บาท และโจทก์สำนวนที่สาม 35,700 บาทและให้จำเลยที่ 1 เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วม ให้จำเลยที่ 1ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความสำนวนละ 1,000 บาทแทนโจทก์ ค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะ

โจทก์และจำเลยที่ 1 ทั้ง 3 สำนวนอุทธรณ์ โดยโจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 2กับจำเลยร่วมรับผิดด้วย และขอให้เพิ่มค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วคงฟังเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น แต่เห็นว่าโจทก์สำนวนแรกและโจทก์ที่ 2 กับโจทก์ที่ 3 สำนวนที่สองควรได้รับค่าขาดไร้อุปการะเพิ่มขึ้นอีก พิพากษาแก้สำนวนแรกเป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าขาดไร้อุปการะให้โจทก์เป็นเงิน 60,000 บาท สำนวนที่สองให้จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 84,000 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 96,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยที่ 1 ทั้งสามสำนวนฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าเหตุเกิดเพราะความประมาทของนายสมหวังซึ่งเป็นคนขับรถของจำเลยที่ 1 แต่ฝ่ายเดียว

วินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่า ขณะเกิดเหตุรถเป็นของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ให้พนักงานธนาคารกรุงไทย จำกัด ยืมไปทอดกฐินที่จังหวัดระยองการที่นายสมหวังซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถไป เชื่อว่าเป็นคำสั่งของจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งเพราะจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างและนายสมหวังมีหน้าที่ต้องขับรถให้จำเลยที่ 1 เป็นประจำอยู่แล้ว การที่ผู้ยืมจะให้เงินแก่นายสมหวัง ก็เป็นเรื่องสินน้ำใจ ถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างแม้รถของจำเลยที่ 1 จะเป็นรถเมล์ประจำทางไม่ได้รับสัมปทานให้วิ่งระหว่างกรุงเทพฯ – ระยอง และการให้ยืมไม่ใช่วัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ผู้ให้ยืมก็ตาม เมื่อนายสมหวังเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ขับรถของจำเลยที่ 1 ไปตามที่จำเลยที่ 1 สั่ง แล้วนายสมหวังขับรถโดยประมาทชนรถของจำเลยที่ 2 ทำให้คนตายตามที่โจทก์ฟ้อง ถือได้ว่านายสมหวังได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง อันจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดฐานละเมิดกับนายสมหวังด้วย โดยไม่คำนึงว่าในวันเกิดเหตุรถชนกันจะเป็นวันหยุดของนายสมหวังหรือไม่

พิพากษายืน

Share