คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2424/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยโดยบรรยายในฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น มีอำนาจ หน้าที่ในการดูแลรักษาที่ดินสาธารณะ โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งปัจจุบันใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนป. อันเป็นสถานศึกษาในสังกัดของโจทก์ จำเลยต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยแล้วโดยการครอบครองเกินกว่า 10 ปี ฉะนั้นการที่โจทก์นำสืบว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของใครและโจทก์ได้ที่ดินพิพาทมาโดยเจ้าของเดิมยกให้เพื่อใช้ในกิจการของโจทก์นั้น เป็นการนำสืบถึงมูลเหตุซึ่งได้ที่ดินพิพาทมาเป็นของตนพร้อมทั้งวัตถุประสงค์ของการยกให้ไม่ใช่เป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็น ทรัพย์สินของแผ่นดินมี 2 ประเภท คือ ทรัพย์สินของแผ่นดิน ธรรมดาซึ่งเป็นของรัฐ กับสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งมีลักษณะสำคัญอยู่ที่ว่าใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ฉะนั้น ทรัพย์สินของแผ่นดินที่จะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่นั้น จึงขึ้นอยู่กับสภาพของทรัพย์สินนั้นเองว่าได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาปรากฏว่า ที่ดินพิพาทซึ่งบริษัทช. ยกให้โจทก์ได้ใช้เป็นที่ตั้งโรงเรียนป. และเนื่องจากโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐ ทรัพย์สินของโจทก์จึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ประเภทสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1306 เมื่อประเด็น ในคดีนี้มีว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามข้อต่อสู้หรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งกฎหมายห้ามมิให้จำเลยยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดิน จำเลยย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามมาตรา 1382 จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำออกจากที่ดินของโจทก์ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 86494 เลขที่ดิน 3358 ตำบลห้วยขวาง (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอห้วยขวาง (บางซื่อ) จังหวัดกรุงเทพมหานคร
จำเลยให้การว่า จำเลยเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วยความสงบ เปิดเผย และด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่ปี 2524 ติดต่อกันมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นหมายเรียกนายวิจิตร ตันมณีกับนางสาวสังวาลย์ ตันมณี ทายาทของนายโปร่ง หงษ์อ่อน เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามคำร้องของ จำเลย
จำเลยร่วมทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์จริงนอกจากนี้จำเลยยังบุกรุกที่ดินส่วนที่เป็นถนนใน ซอยวิจิตรชัย 3 หน้าบ้านจำเลยซึ่งเป็นของจำเลยร่วมที่ 2 ที่จะยกให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ด้วย ทำให้จำเลยที่ 2 ต้องฟ้องขับไล่จำเลย คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์จำเลยร่วมทั้งสองมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของจำเลย จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยพร้อมบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินของโจทก์ ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 86494 ตำบลห้วยขวาง (สามเสนนอกฝั่งเหนือ)อำเภอห้วยขวาง (บางซื่อ) จังหวัดกรุงเทพมหานคร ยกฟ้องจำเลยร่วมทั้งสอง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 86494 ตำบลห้วยขวาง (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอห้วยขวาง (บางซื่อ) จังหวัดกรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา ซึ่งใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนประชาราษฎร์ บำเพ็ญอันเป็นสถานศึกษาในสังกัดของโจทก์ ต่อมาประมาณปี 2524 จำเลยได้ปลูกสร้างโรงรถและทำรั้วลวดหนามรุกล้ำเข้ามาในที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นเนื้อที่ 5.79 ตารางวา คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าโจทก์นำสืบนอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ ซึ่งในข้อนี้จำเลยอ้างว่า คดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าที่ดินตามฟ้องเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การที่โจทก์นำสืบว่าที่ดินตามฟ้องโจทก์ได้รับการยกให้จากผู้มีชื่อเพื่อใช้ในกิจการของโจทก์ ซึ่งเป็นการนำสืบว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยยกอายุความขึ้นต่อสู้ไม่ได้ จึงเป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็นนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลย โดยบรรยายในฟ้องว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาที่ดินสาธารณะ โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินเลขที่ 86494 ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนประชาราษฎร์ บำเพ็ญอันเป็นสถานศึกษาในสังกัดของโจทก์จำเลยต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยแล้วโดยการครอบครองเกินกว่า 10 ปี การที่โจทก์นำสืบว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของใคร และโจทก์ได้ที่ดินพิพาทมาโดยเจ้าของเดิมยกให้เพื่อใช้ในกิจการของโจทก์ ดังนี้ เป็นการนำสืบถึงมูลเหตุซึ่งได้ที่ดินพิพาทมาเป็นของตนพร้อมทั้งวัตถุประสงค์ของการยกให้นั้นจึงไม่ใช่เป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็นดังที่จำเลยกล่าวอ้าง
ที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีนอกฟ้องนอกประเด็นคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบ เพราะการที่โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทก็ย่อมฟังได้แต่เพียงว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินเท่านั้น จะฟังว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ได้นั้นเห็นว่า ทรัพย์สินของแผ่นดินมี 2 ประเภทด้วยกัน คือทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดาซึ่งเป็นของรัฐ กับสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งมีลักษณะสำคัญอยู่ที่ว่าใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ฉะนั้น ทรัพย์สินของแผ่นดินที่จะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่นั้น จึงขึ้นอยู่กับสภาพของทรัพย์สินนั้นเองว่าได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินแปลงพิพาทซึ่งปัจจุบันใช้เป็นที่ตั้งที่ทำการของโรงเรียนประชาราษฎร์ บำเพ็ญอันเป็นสถานศึกษาสังกัดโจทก์เมื่อข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาปรากฏว่าที่ดินพิพาทซึ่งบริษัทชัยณรงค์นิเวศน์ จำกัด ยกให้โจทก์ได้ใช้เป็นที่ตั้งโรงเรียนประชาราษฎร์บำเพ็ญ และเนื่องจากโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐ ทรัพย์สินของโจทก์จึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน และเมื่อสภาพของที่ดินพิพาทได้ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียน ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินประเภทสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 ซึ่งจำเลยไม่อาจยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1306 ประเด็นในคดีนี้มีว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โดยการครอบครองตามข้อต่อสู้หรือไม่ ฉะนั้น การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งกฎหมายห้ามมิให้จำเลยยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดิน จำเลยย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใดที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share