คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2415/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยผู้เช่าให้ออกจากห้องพิพาทซึ่งมีค่าเช่าเดือนละ 80 บาท จำเลยให้การรับว่าได้เช่าห้องพิพาทจากโจทก์จริง แต่ต่อสู้ว่า ห้องพิพาทมิใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ แต่เป็นของกรมธนารักษ์โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ข้อต่อสู้ของจำเลยเช่นนี้หาใช่ข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ไม่ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1619/2506) คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 และ 247ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าห้องพิพาทยังเป็นของโจทก์อยู่ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังเป็นยุติตามนั้น แม้ต่อมาภายหลังจะมีคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเรื่องอื่นวินิจฉัยว่าห้องพิพาทเป็นของกรมธนารักษ์กระทรวงการคลังก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงซึ่งศาลชั้นต้นฟังเป็นยุติแล้วในคดีนี้ได้
เมื่อจำเลยรับว่าได้เช่าห้องพิพาทจากโจทก์ จำเลยจะเถียงสิทธิของโจทก์ผู้ให้เช่าว่าห้องพิพาทเป็นของผู้อื่น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องหาได้ไม่ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1531-1532/2499) ข้อที่จำเลยอ้างว่าได้ทำสัญญาเช่าจากกรมธนารักษ์ผู้เป็นเจ้าของแล้วจำเลยมีสิทธิจะอยู่และใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าได้นั้นเป็นข้อเท็จจริงนอกเหนือไปจากคดีนี้ จำเลยจะต้องไปว่ากล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องแถว จำเลยเช่าห้องพิพาทจากโจทก์โดยไม่มีหนังสือสัญญาเช่าเพื่อประกอบการค้า โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยเช่าต่อไปได้บอกกล่าวเลิกการเช่าให้จำเลยทราบ ครบกำหนดแล้วจำเลยและบริวารยังอยู่ในห้องพิพาทเป็นละเมิดทำให้โจทก์เสียหายเท่ากับอัตราค่าเช่า ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากห้องพิพาท และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2510 จนกว่าจะออกไปจากห้องพิพาท

จำเลยให้การว่า จำเลยเช่าห้องพิพาทจากโจทก์จริงเพื่อประกอบการค้าเล็กน้อย วัตถุประสงค์ส่วนใหญ่เป็นการเช่าเพื่ออยู่อาศัย จึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ. 2504 ขณะนี้ห้องพิพาทมิใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แต่เป็นของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ข้อเท็จจริงยังไม่พอจะชี้ลงไปว่า กรรมสิทธิ์ห้องพิพาทตกเป็นของกรมธนารักษ์ เมื่อจำเลยเช่าห้องพิพาทจากโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและฟ้องขับไล่จำเลยออกจากห้องพิพาทได้ ตามพยานหลักฐานฟังได้ว่าจำเลยใช้ห้องพิพาทประกอบการค้า จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เมื่อโจทก์บอกกล่าวเลิกสัญญากับจำเลยโดยชอบแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิอยู่ในห้องพิพาทได้ พิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากห้องพิพาท ให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์ตามฟ้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาว่า โจทก์ทำผิดสัญญาต่อกรมธนารักษ์และกรมธนารักษ์ได้บอกเลิกการเช่ากับโจทก์แล้ว ห้องพิพาทตกเป็นของกรมธนารักษ์โดยไม่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนกันอีก

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยให้การรับว่าได้เช่าห้องพิพาทจากโจทก์ผู้ให้เช่าจริง แต่ต่อสู้ว่าจำเลยเช่าเพื่ออยู่อาศัยและต่อสู้ว่าห้องพิพาทมิใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ แต่เป็นของกรมธนารักษ์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องข้อต่อสู้ของจำเลยเช่นนี้หาใช่ข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ไม่ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1619/2506 คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 และ 247ข้อเท็จจริงในคดีจึงจึงต้องฟังเป็นยุติว่าห้องพิพาทเป็นของโจทก์ ฉะนั้น แม้ต่อมาภายหลังจะมีคำพิพากษาฎีกาในคดีเรื่องอื่นวินิจฉัยว่า ห้องพิพาทตกเป็นของกระทรวงการคลังตามสัญญาเช่าที่ดินพิพาทก็ตามก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงซึ่งศาลชั้นต้นฟังเป็นยุติแล้วในคดีนี้ได้ โดยเฉพาะในข้อกฎหมาย เมื่อจำเลยรับว่าได้เช่าห้องพิพาทจากโจทก์แล้ว จำเลยจะเถียงสิทธิของโจทก์ผู้ให้เช่าว่าห้องเช่าพิพาทเป็นของผู้อื่น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องหาได้ไม่ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1531-1532/2499 ฉะนั้น ฎีกาของจำเลยที่ว่าโจทก์ทำผิดสัญญาต่อกรมธนารักษ์และกรมธนารักษ์ได้บอกเลิกการเช่ากับโจทก์แล้ว ห้องพิพาทเป็นของกรมธนารักษ์ จึงฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยอ้างว่าได้ทำสัญญาเช่าจากกรมธนารักษ์ผู้เป็นเจ้าของแล้ว จำเลยก็ย่อมมีสิทธิที่จะอยู่และใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าได้นั้น เป็นข้อเท็จจริงนอกเหนือไปจากคดีนี้ ซึ่งจำเลยจะต้องไปว่ากันเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก

พิพากษายืน

Share