คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2414/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์ได้รับความเดือดร้อนถึงกับจะต้องใช้สิทธิเพื่อยังความเดือดร้อนให้สิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1337 นั้น จะต้องได้ความว่าเป็นความเดือดร้อนเกินกว่าที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรบ้านและที่ดินของโจทก์ตั้งอยู่ช่วงติดต่อระหว่างถนนกับซอยซึ่งมีระดับต่างกันมาก หากไม่ทำถนนเชื่อมต่อกัน ชาวบ้านโจทก์และจำเลยก็ไม่อาจใช้ซอยต่อไปยังถนนได้เมื่อพิจารณาถึงตำแหน่งบ้านและที่ดินของโจทก์ประกอบกับสภาพของถนนและซอยแล้ว กำแพงถนนไม่ได้ปิดบังหน้าบ้านโจทก์และอยู่ห่างบ้านโจทก์ประมาณ 3 เมตร ถือได้ว่าโจทก์ไม่เดือดร้อนเกินควรจนไม่อาจคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติอันควรสำหรับสภาพและ ท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องนั้น ดังนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยเพื่อจะยังความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไปได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 54265ตำบลสำโรงใต้ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการพร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านไม้สองชั้น จำเลยได้ก่อสร้างถนนในซอยทองสุข โดยยกระดับถนนในซอยทองสุขให้สูงกว่าเดิมถึง 170 เซนติเมตร ที่หน้าบ้านโจทก์ด้านทิศใต้ แล้วค่อยลาดต่ำลงไปในซอยทองสุข เมื่อสุดเขตหน้าบ้านโจทก์ด้านทิศใต้ มีความสูง 90 เซนติเมตร เป็นเหตุให้ปิดบังทางลมและแสงสว่างที่จะเข้าบ้านโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนรำคาญต่อความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตอย่างปกติสุขเยี่ยงวิญญูชนทั่วไป ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนการก่อสร้างถนนในซอยทองสุขและทำให้ถนนดังกล่าวกลับคืนสู่สภาพเดิม
จำเลยให้การว่า เหตุที่จำเลยต้องทำถนนพิพาท เพราะกรมทางหลวงได้ยกระดับถนนสายคลองเตย-จระเข้น้อย สูงขึ้นจากเดิมถึง 170 เซนติเมตร หากไม่ยกระดับถนนในซอยทองสุขให้สูงขึ้นเพื่อเชื่อมกับถนนของกรมทางหลวงแล้ว จำเลยและชาวบ้านในซอยทองสุขกว่าสองร้อยหลังคาเรือนก็ไม่สามารถผ่านเข้าออกได้เนื่องจากถนนต่างระดับกันถึง 170 เซนติเมตร การกระทำของจำเลยมิได้ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนแต่อย่างใด
ในวันนัดชี้สองสถานโจทก์และจำเลยแถลงรับกันว่า ซอยทองสุขเป็นซอยลูกรัง กว้างประมาณ 5 เมตร ยาวประมาณ70 เมตร เชื่อมกับถนนสายคลองเตย-จระเข้น้อย ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมทางหลวง ในซอยดังกล่าวมีชาวบ้านพักอาศัยอยู่ประมาณ 200 หลังคาเรือน อาศัยซอยทองสุขเดินและใช้รถแล่นเข้าออกสู่ถนนสายคลองเตย – จระเข้น้อย เกินกว่า 10 ปีแล้วลักษณะของซอยน่าจะเป็นซอยสาธารณะจำเลยได้เทคอนกรีตเป็นกำแพงลาดจากถนนสายคลองเตย – จระเข้น้อย เข้าไปในซอยทองสุขแล้วใช้ดินลูกรังถมอัดตรงกลาง เพื่อให้ประชาชนและรถเดินและแล่นเข้าออกได้ ส่วนที่เป็นกำแพงคอนกรีตอยู่ห่างจากบ้านโจทก์ประมาณ 3 เมตร ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอที่จะวินิจฉัยได้จึงให้งดชี้สองสถานและสืบพยาน แล้ววินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยมิได้ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าทางราชการได้ยกระดับถนนสายคลองเตย-จระเข้น้อย สูงขึ้นจากเดิม170 เซนติเมตร ก่อนที่จะยกระดับถนนกับซอยทองสุขได้เชื่อมต่อกันประชาชนที่อยู่ในซอยดังกล่าวประมาณ 200 หลังคาเรือนใช้เป็นทางสัญจรไปมาตามถนนดังกล่าวได้ เมื่อมีการยกระดับแล้ว ประชาชนรวมทั้งโจทก์และจำเลยก็ไม่สามารถใช้ซอยทองสุขเป็นทางสัญจรไปมาต่อไปยังถนนของกรมทางหลวงที่ยกระดับนี้ได้ จำเลยจึงจำเป็นต้องทำถนนเชื่อมระหว่างถนนสายคลองเตย-จระเข้น้อยโดยทำลาดชันลงมายังซอยทองสุขทำให้สามารถใช้เป็นทางเชื่อมต่อกันได้ บ้านโจทก์อยู่ใกล้กับที่ทำถนนเชื่อมต่อ จำเลยได้ทำกำแพงถนนมาเกือบถึงบ้านโจทก์ ห่างบ้านโจทก์ประมาณ 3 เมตร ตามที่โจทก์ฎีกาว่าการก่อสร้างของกรมทางหลวงและของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อน เพราะบ้านของโจทก์ต้องจมน้ำและจมดินเกือบถึงหลังคาบ้าน แสงแดดส่องไม่ถึง อากาศถ่ายเทไม่สะดวกและเมื่อถึงฤดูฝน ฝนตกน้ำจะท่วมขังในบ้าน เห็นว่าการที่โจทก์ได้รับความเดือดร้อนถึงกับจะต้องใช้สิทธิเพื่อยังความเดือดร้อนให้สิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 นั้นจะต้องเป็นความเดือดร้อนเกินกว่าที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร เมื่อคำนึงถึงสภาพและตำแหน่งที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ บ้านของโจทก์อยู่ในระหว่างช่วงติดต่อกันของถนนกับซอยทองสุขถนนกับซอยมีระดับต่างกันมาก หากไม่ทำถนนเชื่อมต่อกัน ชาวบ้าน โจทก์และจำเลยก็ไม่อาจใช้ซอยต่อไปยังถนนได้ เมื่อพิจารณาถึงตำแหน่งบ้านและที่ดินของโจทก์ประกอบกับสภาพของถนนและซอยทองสุขแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ไม่เดือดร้อนเกินไป จนไม่อาจคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติอันควรสำหรับสภาพและท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องนั้น ข้อเท็จจริงยังได้ความต่อไปอีกว่า กำแพงถนนยังกั้นไม่ถึงหน้าบ้านโจทก์ไม่ได้ปิดบังหน้าบ้านโจทก์ และอยู่ห่างบ้านโจทก์ประมาณ 3 เมตรโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยเพื่อจะยังความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไปได้”
พิพากษายืน

Share