คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2412/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยเป็นบุตรของจำเลยร่วม ทั้งสามต่างเป็น เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ 2568 ร่วมกัน โจทก์ต้องการโฉนดมาเพื่อทำนิติกรรมจำหน่ายส่วนของตนและเข้าใจว่าจำเลยเป็นผู้เก็บโฉนดไว้ไม่ยอมมอบให้ จึงฟ้องจำเลยขอให้ส่งมอบโฉนดและเรียกค่าเสียหาย ต่อมาความปรากฏแก่ศาลว่าจำเลยร่วมเป็นผู้เก็บรักษาโฉนดไว้ ดังนี้จึงเป็นการสมควรและจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่ ศาลจะมีคำสั่งเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)(ข) และพิพากษาบังคับจำเลยร่วมให้รับผิดตามฟ้องของโจทก์ได้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 เป็นบทบัญญัติตัดสิทธิห้ามมิให้ฟ้องผู้บุพการีของตนจึงต้องแปลโดยเคร่งครัด การที่ศาลมีคำสั่งเรียกบิดาโจทก์เข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(3)(ข) ยังเรียกไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องบุพการีของตน จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1562

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ จำเลย และขุนกฤษณามรวิสิฐ (นายวิสิทธิ์ กฤษณามระ)มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในโฉนดเลขที่ 2568 ยังไม่ได้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์เป็นส่วนสัดซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลย โจทก์ได้ทำสัญญาจะขายกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว เฉพาะส่วนของโจทก์ให้แก่นายสงวน ชัยชนะวิชชกิจ โจทก์ได้แจ้งการซื้อขายดังกล่าวแก่จำเลย และนัดขอรับโฉนดจากจำเลยเพื่อไปทำการโอนให้แก่นายสงวน แต่จำเลยก็ไม่ยอมให้โฉนดจนบัดนี้ จำเลยประสงค์จะเอาที่ดินส่วนของโจทก์เสียเอง ได้จงใจกลั่นแล้ง ขัดขวาง กีดกัน บีบบังคับ เพื่อมิให้โจทก์ได้ขายสำเร็จ เป็นการละเมิดสิทธิโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ศาลบังคับจำเลยส่งมอบโฉนดเลขที่ 2568 ตามฟ้องให้แก่โจทก์เพื่อนำไปจดทะเบียนซื้อขายตามสิทธิของโจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 5,000 บาท และค่าเสียหายที่จะได้ดอกเบี้ยเดือนละ 27,416 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบโฉนดให้โจทก์

จำเลยให้ารว่า โฉนดที่ดินตามฟ้อง ขุนกฤษณามรวิสิฐ ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยและโจทก์เป็นผู้เก็บรักษา โจทก์ฟ้องผิดตัว จำเลยไม่ได้ละเมิดสิทธิของโจทก์

ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้ว เห็นเป็นการสมควรและจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงมีคำสั่งเรียกขุนกฤษณามรวิสิฐ ผู้ครอบครองโฉนดที่ดินอยู่เข้ามาเป็นจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)

ขุนกฤษณามรวิสิฐ จำเลยร่วมให้การว่า ศาลมีคำสั่งเรียกตนเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามคำแถลงของโจทก์ โดยโจทก์ไม่ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกเพราะเกรงกลัวว่าคำฟ้องของโจทก์จะเป็นอุทลุม เป็นการเลี่ยงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 และใช้สิทธิไม่สุจริต และไม่ได้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามคำสั่งศาลก็ตาม คดีโจทก์ก็เป็นการฟ้องบุพการีเช่นกัน จึงเป็นอุทลุม ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1551/2494 และโจทก์รู้ก่อนฟ้องว่า โฉนดอยู่ที่จำเลยร่วมแต่กลับฟ้องจำเลยให้ส่งมอบโฉนดแก่โจทก์จึงฟ้องผิดตัว ศาลมีคำสั่งเรียกจำเลยร่วมก็ไม่ได้ เพราะฟ้องของโจทก์ใช้ไม่ได้แล้ว

ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดสืบพยานพิพากษาให้ขุนกฤษณามรวิสิฐ จำเลยร่วม ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 2568 ตามฟ้องแก่โจทก์เพื่อนำไปจดทะเบียนซื้อขายตามสิทธิของโจทก์ คำขออื่นให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับนางวิมลเกียรติ กมลนาถ จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียม ค่าทนายเป็นพับ

จำเลยร่วมอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยร่วมฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยร่วมฎีกาข้อแรกว่า ข้อเท็จจริงเป็นที่กระจ่างชัดตามคำเบิกความของจำเลยร่วมว่าโจทก์รู้ก่อนฟ้องว่า โฉนดตามฟ้องอยู่ที่จำเลยร่วมแต่กลับฟ้องจำเลย โจทก์ฟ้องผิดตัว ฟ้องโจทก์จึงใช้ไม่ได้ ไม่มีฟ้องที่สมบูรณ์ที่จะเรียกให้จำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยร่วมนั้น พิเคราะห์คำจำเลยร่วมแล้วจำเลยร่วมเบิกความว่าโฉนดตามฟ้องมีชื่อจำเลยร่วม โจทก์ และจำเลย เป็นเจ้าของร่วมกันจำเลยเคยเก็บโฉนดนั้น จำเลยร่วมไม่ได้เก็บรักษา ขณะนี้ไม่ทราบว่าอยู่ที่ใครและที่ไหน โจทก์ไม่เคยเก็บ และหลายเดือนมาแล้ว จำเลยร่วมเคยรับหนังสือจากทนายโจทก์ขอให้ส่งโฉนดตามฟ้องเพื่อนำไปขาย จำเลยร่วมเห็นว่าไม่ควรขายและขณะนั้นไม่ทราบว่าโฉนดอยู่ที่ไหน ก็เฉยเสีย ตามคำจำเลยร่วมดังกล่าว จำเลยร่วมเองก็ว่าจำเลยร่วมไม่ได้เก็บโฉนดตามฟ้อง เมื่อโจทก์ขอโฉนดตามฟ้องมาจำเลยร่วมก็เฉยเสีย และไม่ทราบว่าโฉนดอยู่ที่ไหน เมื่อจำเลยร่วมไม่ตอบโจทก์ไป โจทก์ย่อมเชื่อว่าโฉนดไม่ได้อยู่ที่จำเลยร่วมเพราะแม้แต่จำเลยร่วมเองก็ไม่รู้ว่าโฉนดอยู่ที่ไหน ดังนี้จะว่าโจทก์ทราบก่อนฟ้องว่าโฉนดอยู่ที่จำเลยร่วมได้อย่างไร เมื่อโฉนดไม่ได้อยู่ที่จำเลยร่วม โจทก์ย่อมเข้าใจว่าอยู่ที่จำเลยทั้งจำเลยร่วมเบิกความว่าจำเลยเคยเก็บโฉนดนี้ โจทก์จึงได้ฟ้องจำเลย หากจำเลยร่วมตอบโจทก์ว่าโฉนดอยู่ที่ตนแต่ไม่ให้โจทก์ไป แล้วโจทก์ยังฟ้องจำเลยก็จะเห็นได้ว่าโจทก์จงใจฟ้องจำเลยทั้ง ๆ ที่รู้ว่าจำเลยไม่ได้เก็บโฉนดไว้ นอกจากนี้ในวันเผชิญสืบ จำเลยร่วมยังเบิกความว่าจำเลยร่วมไม่ได้เก็บรักษาโฉนด ไม่ทราบว่าขณะนี้โฉนดอยู่ที่ไหนต่อเมื่อศาลขอให้จำเลยร่วมตรวจดู จำเลยร่วมจึงได้ตรวจพบโฉนดในตู้เสื้อผ้าในห้องนอนของจำเลยร่วมซึ่งเป็นห้องในบ้านของจำเลย และนำมาแสดงต่อศาลศาลจึงเห็นเป็นการสมควรและจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี ดังนี้ศาลฎีกาเห็นฟ้องว่าโจทก์เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ คำพิพากษาที่ 1050/2493 และ 477/2514 ที่จำเลยร่วมอ้าง รูปคดีจึงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของจำเลยร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

จำเลยร่วมฎีกาข้อต่อมาว่า การที่ศาลมีคำสั่งเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตามคำแถลงของโจทก์ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งตามที่เห็นสมควร คำแถลงของโจทก์เป็นการเลี่ยงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 และที่จำเลยร่วมเข้ามาในคดีนี้ตามคำสั่งศาล ต้องด้วยข้อห้ามตามมาตรา 1562 ดังกล่าวนั้นเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 มิได้ห้ามโจทก์ฟ้องจำเลยร่วมผู้เป็นบิดาโดยเด็ดขาด ยังให้สิทธิโจทก์ร้องขออัยการยกคดีขึ้นว่ากล่าวได้อยู่ เพียงแต่โจทก์เสียเวลาดำเนินการอยู่บ้าง และการที่ศาลมีคำสั่งเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีนี้นั้น ก็โดยที่ศาลเห็นเป็นการสมควรและจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แม้จะมีคำแถลงของโจทก์ หากศาลเห็นไม่เป็นการสมควร ศาลก็จะไม่มีคำสั่งเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี และแม้โจทก์ไม่ได้แถลงเลยแต่ศาลเห็นเป็นการสมควร ศาลก็อาจเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีก็ได้ จึงไม่เห็นว่าคำแถลงของโจทก์เป็นการเลี่ยงมาตรา 1562 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่อย่างใด และการที่ศาลมีคำสั่งเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี ก็มิได้ต้องห้ามตามมาตรา 1562 ดังกล่าว เพราะมาตรานี้บัญญัติว่า “ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ ฯลฯ” ซึ่งเป็นบทบัญญัติตัดสิทธิห้ามมิให้ฟ้องบุพการีของตน จึงต้องแปลโดยเคร่งครัดปรากฏว่าการที่ศาลเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีนี้ก็โดยที่ศาลเห็นเป็นการสมควรและจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)(ข) ฉะนั้นการที่จำเลยร่วมถูกเรียกเข้ามาในคดีโดยศาล ยังเรียกไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องบุพการีของตนจึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 961/2509 ระหว่างนายสาย เรืองเขตร์วิทย์ กับพวกโจทก์นายสุด สุขุประการ กับพวก จำเลย คำพิพากษาฎีกาที่ 1551/2594 ที่จำเลยร่วมอ้างเป็นเรื่องบิดาฟ้องมารดาเป็นจำเลย ระหว่างพิจารณาบิดาตาย บุตรร้องขอรับมรดกความแทนบิดาเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยผู้เป็นมารดา จึงเป็นอุทลุมนั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของจำเลยร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

จำเลยร่วมฎีกาข้อสุดท้ายว่า ไม่ปรากฎตามคำฟ้องบรรยายถึงจำเลยร่วมว่าเป็นผู้ละเมิดต่อโจทก์ อันจะเป็นเหตุให้บังคับจำเลยร่วมต้องส่งมอบโฉนดแก่โจทก์จึงยังไม่มีข้อโต้แย้งระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมที่จะเป็นเหตุให้โจทก์ใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 เห็นว่า เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยก็ย่อมบรรยายฟ้องแต่จำเลยผู้เดียวว่ากระทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นธรรมดาที่จะไม่กล่าวถึงจำเลยร่วม แต่กรณีนี้เป็นเรื่องศาลมีคำสั่งเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีในเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏขึ้นในระหว่างพิจารณาว่าจำเลยร่วมเป็นผู้เก็บรักษาโฉนดไว้แต่ก่อนที่จะปรากฎข้อเท็จจริงดังกล่าวในชั้นแรกจำเลยร่วมก็ยังปฏิเสธว่าตนไม่ได้เก็บรักษาโฉนดและไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหนแสดงพฤติการณ์โต้แย้งของจำเลยร่วมที่จะไม่ส่งมอบโฉนด ศาลจึงเห็นเป็นการสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงได้มีคำสั่งเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเพราะเป็นการจำเป็นเพื่อให้มีการบังคับจำเลยร่วมรับผิดเช่นเดียวกับจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(3)(ข) ศาลก็ชอบที่พิพากษาบังคับให้จำเลยร่วมรับผิดตามฟ้องได้ฎีกาของจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share