แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยให้การว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของ ล.มารดา ม. เมื่อปี 2505 ล.ล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งจึงได้มอบอำนาจให้ ม.ใส่ชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน ล.โดยกำชับไว้ว่าเมื่อ ล.ถึงแก่กรรมให้จัดแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่ทายาททั้ง 8 คนของ ล. ต่อมาเมื่อ ล.ถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกของ ล.ตกได้แก่ทายาททั้ง 8 คน หาใช่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ม.แต่เพียงผู้เดียวไม่ จำเลยได้รับอนุญาตจากทายาททั้ง 8 คน รวมทั้ง ม.ให้ปลูกบ้านพักอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทได้ตลอดชีวิตของจำเลยโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน แม้สิทธิของจำเลยตามที่จำเลยกล่าวอ้างเป็นทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งการได้มานั้นไม่บริบูรณ์ เพราะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แต่บทบัญญัติดังกล่าวหาได้กำหนดให้ตกเป็นโมฆะไม่คงเป็นบุคคลสิทธิที่มีผลผูกพันคู่สัญญา และแม้ตามคำให้การของจำเลยจะมิได้ปรากฏว่าโจทก์ผู้จัดการมรดกของ ม.รู้เห็นยินยอมที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นด้วยแต่หากฟังได้ว่าเป็นความจริงก็เป็นเรื่องเจ้าของรวมจัดการทรัพย์สินในเรื่องอันเป็นสาระสำคัญ ซึ่งตาม ป.พ.พ.มาตรา 1358 วรรคสาม ให้ตกลงกันโดยคะแนนข้างมากแห่งเจ้าของรวม จำเลยจึงอาจมีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทได้ คดีจึงมีความจำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวต่อไป ไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นจะด่วนสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยแล้วพิพากษาขับไล่จำเลยตามฟ้อง