แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ลูกจ้างของจำเลยนำเรือของจำเลยไปบรรทุกน้ำมันเบนซินจากคลังน้ำมันตามที่จำเลยใช้ เมื่อถ่ายน้ำมันเสร็จแล้วลูกจ้างของจำเลยได้แก้เชือกผูกเรือและติดเครื่องยนต์เพื่อจะนำเรือออกจากท่า จึงได้เกิดไฟไหม้ เมื่อน้ำมันเบนซินอยู่ในความครอบครองของลูกจ้างจำเลยและน้ำมันเบนซินเป็นทรัพย์อันเกิดอันตรายได้โดยสภาพ กรณีจึงปรับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 วรรคสอง ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่น้ำมันเบนซินเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนี้เกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของโจทก์เองแต่พยานที่จำเลยนำสืบได้ความแต่เพียงว่า เมื่อลูกจ้างของจำเลยแก้เชือกผูกเรือและติดเครื่องยนต์เรือได้ 5-10 นาที ก็เกิดการระเบิดและไฟได้ไหม้ เพียงเท่านี้ยังไม่พอฟังว่าความเสียหายเกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัย จำเลยจึงไม่พ้นความรับผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ครอบครองเรือบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง และเป็นนายจ้าง
ลูกจ้างของจำเลยได้นำเรือยนต์ของจำเลยไปจอดที่ท่าเรือของบริษัทซัมมิทเพื่อบรรทุกน้ำมัน การถ่ายน้ำมันได้กระทำโดยประมาทน้ำมันได้กระเซ็นหรือหยดบนเรือกับปากถังน้ำมันเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นต้นเหตุให้ไฟลุกไหม้บนเรือของจำเลย ลูกจ้างของจำเลยได้แก้เชือกที่ผูกเรือของจำเลยออกจากท่าเรือบริษัทซัมมิท แล้วปล่อยให้เรือซึ่งไฟกำลังลุกไหม้ลอยไปตามกระแสน้ำ จนไปปะทะกับทุ่นวางท่อยางส่งดินของโจทก์เสียหาย รวมเป็นเงิน 55,104 บาท
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ลูกจ้างของบริษัทซัมมิทได้กระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ไฟลุกไหม้ ไม่ใช่ความผิดของลูกจ้างของจำเลยจำเลยจึงไม่ต้องรับผิด
จำเลยที่ 2 ให้การว่าเป็นเจ้าของเรือ แต่ได้ให้จำเลยที่ 1 เช่าไป จึงไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์พยานทั้งสองฝ่ายแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าลูกจ้างจำเลยที่ 1 นำเรือวานิชชัยไปบรรทุกน้ำมันเบนซินจากคลังน้ำมันบริษัทซัมมิทตามที่จำเลยที่ 1 ใช้ เมื่อลูกจ้างบริษัทซัมมิทถ่ายน้ำมันเบนซินบรรจุถังซึ่งบรรทุกอยู่ในเรือวานิชชัยได้รวม 30 ถังแล้ว ลูกจ้างจำเลยที่ 1 จึงปล่อยเชือกผูกเรือยนต์วานิชชัยให้เรือลอยไป ในที่สุดเรือยนต์วานิชชัยที่ถูกไฟไหม้ลอยปะทะทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย ศาลฎีกาเห็นว่า ก่อนเกิดไฟไหม้นั้น ได้มีการเติมน้ำมันเบนซินบรรจุถังรวม 30 ถังให้ลูกจ้างจำเลยที่ 1 รับไว้ในครอบครอง และลูกจ้างจำเลยที่ 1แก้เชือกผูกเรือติดเครื่องยนต์เพื่อจะนำเรือออกจากท่า ฉะนั้น คดีจึงรับฟังได้ว่าขณะเกิดไฟไหม้น้ำมันเบนซินซึ่งอยู่ในเรือนั้นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ได้รับไว้ในครอบครองขาดตอนแล้ว
ศาลฎีกาเห็นว่า น้ำมันเบนซินซึ่งลูกจ้างจำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ เพราะเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไวไฟน่ากลัวอันตราย มีไอระเหยอาจลุกเป็นไฟได้เมื่อกระทบความร้อน กรณีจึงปรับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 วรรค 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่น้ำมันเบนซินที่ลูกจ้างจำเลยที่ 1 ครอบครองเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนี้เกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของโจทก์เอง ศาลฎีกาพิเคราะห์พยานจำเลยแล้วจำเลยที่ 1 นำสืบได้ความเพียงว่า เมื่อลูกจ้างจำเลยที่ 1 แก้เชือกผูกเรือและติดเครื่องยนต์เรือได้ 5 ถึง 10 นาที ก็เกิดการระเบิดขึ้นและไฟได้ไหม้เพียงเท่านั้นยังไม่พอฟังว่าความเสียหายเกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัย จึงไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 จะพ้นความรับผิด
สำหรับความเสียหายนั้น โจทก์นำสืบฟังได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นจำนวนเงินดังที่โจทก์ฟ้อง และจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบหักล้าง ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน