แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายโครงการ ก. ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยในข้อ 7.2 มีข้อความว่า จำเลยที่ 2 ตกลงและยอมรับโอนไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายที่จำเลยที่ 1 มีต่อลูกค้าเฉพาะรายที่ได้จองหรือซื้อที่ดินและ/หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในโครงการแต่ยังมิได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวนั้นจากจำเลยที่ 1 เป็นการโอนสิทธิเรียกร้อง เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกค้าที่ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 แต่ยังไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ได้ทราบถึงการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 แล้วมิได้โต้แย้งคัดค้าน ทั้งยังมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่โจทก์ทำกับจำเลยที่ 1 อีกด้วย จึงต้องถือว่าโจทก์ให้ความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นหนังสือและยอมให้จำเลยที่ 2 ผูกพันตนในอันที่จะปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแทนจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องรับโอนไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่มีต่อโจทก์แทนจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 2 ได้ การที่โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายโดยไม่ยอมเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ 2 เป็นการใช้สิทธิที่มีอยู่ตามปกติหาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเลิกกันจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องคืนเงินที่จำเลยที่ 1 ได้รับพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่เวลาที่รับไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391
เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแทนจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินต่อโจทก์ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 566,550 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 360,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 566,550 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 360,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป (ฟ้องวันที่ 28 พฤศจิกายน 2546) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 3,000 บาท
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2538 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินในโครงการกรีนแมนชั่นแปลงหมายเลขที่ เจ-329 ตั้งอยู่ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 90 ตารางวา ในราคา 1,800,000 บาท กับจำเลยที่ 1 โจทก์ชำระเงินในวันจองสัญญารวม 50,000 บาท กับผ่อนชำระเป็นงวด งวดละเดือนรวม 18 งวด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 360,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว แต่จำเลยที่ 1 ยังไม่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 7 มิถุนายน 2545 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายโครงการกรีนแมนชั่นซึ่งรวมถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 80270 ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการซึ่งเป็นที่ดินแปลงที่โจทก์ทำสัญญาจะซื้อกับจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดคืนเงินที่จำเลยที่ 1 รับไว้ตามสัญญาจะซื้อจะขายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดสัญญา ทั้งจำเลยที่ 2 ก็มิได้โต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญานั้น เห็นว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงเกี่ยวกับการชำระเงินและการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในข้อ 2 ดังนี้ “ข้อ 2.1 ผู้จะซื้อตกลงชำระเงินมัดจำให้แก่ผู้จะขายเป็นเงิน 360,000 บาท โดยในวันจองชำระแล้วเป็นเงิน 10,000 บาท และตกลงแบ่งชำระในวันทำสัญญานี้เป็นเงิน 40,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 310,000 บาท ผู้จะซื้อจะแบ่งชำระเป็น 17 งวด งวดละเดือน เดือนละ 17,000 บาท งวดที่ 18 ชำระ 21,000 บาท โดยชำระทุกวันที่ 17 ของเดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะครบข้อ 2.2 เงินส่วนที่เหลืออีก 1,440,000 บาท ผู้จะซื้อตกลงชำระให้แก่ผู้จะขายในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยผู้จะขายตกลงโอนกรรมสิทธิ์ดังกล่าวให้แก่ผู้จะซื้อเมื่อผู้จะซื้อได้ชำระเงินครบถ้วนแล้วและเมื่อผู้ขายได้รับโฉนดจากสำนักงานที่ดินแล้ว ซึ่งผู้จะขายจะมีหนังสือแจ้งกำหนดวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้จะซื้อได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน” เมื่อโจทก์ชำระเงินค่าที่ดินงวดที่ 18 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายให้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2539 และปรากฏตามสำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 80270 ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นที่ดินแปลงที่โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยที่ 1 ว่า เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2538 นอกจากนี้ยังปรากฏรายการตามสารบัญจดทะเบียนว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวกับธนาคารซิตี้แบงค์ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2538 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้รับโฉนดที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายแล้วอย่างช้าตั้งแต่วันที่มีการจดทะเบียนจำนองดังกล่าว กรณีต้องด้วยเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องแจ้งกำหนดวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ไม่แจ้งกำหนดวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินต่อโจทก์ แต่กลับทำสัญญาขายโครงการซึ่งรวมถึงที่ดินแปลงที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ไปโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบเช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 ได้ การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายโครงการกรีนแมนชั่นให้แก่จำเลยที่ 2 ตามสัญญาจะซื้อจะขาย โดยในข้อ 7.2 มีข้อความว่า จำเลยที่ 2 ตกลงและยอมรับโอนไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายที่จำเลยที่ 1 มีต่อลูกค้าเฉพาะรายที่ได้จองหรือซื้อที่ดินและ/หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในโครงการแต่ยังมิได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวนั้นจากจำเลยที่ 1 เป็นการโอนสิทธิเรียกร้อง เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกค้าที่ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 แต่ยังไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ได้ทราบถึงการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 แล้วมิได้โต้แย้งคัดค้าน ทั้งยังมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ที่โจทก์ทำกับจำเลยที่ 1 อีกด้วย จึงต้องถือว่าโจทก์ให้ความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นหนังสือและยอมให้จำเลยที่ 2 ผูกพันตนในอันที่จะปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแทนจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 2 จึงต้องรับโอนไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่มีต่อโจทก์แทนจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 2 ได้ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ 2 เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่า การที่โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 2 เป็นการใช้สิทธิที่มีอยู่ตามปกติหาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตดังที่จำเลยที่ 2 อ้างมาในฎีกาไม่ การบอกเลิกสัญญาของโจทก์ชอบแล้ว เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเลิกกันจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องคืนเงินที่จำเลยที่ 1 ได้รับไว้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่เวลาที่รับไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องแต่โจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ถือได้ว่าโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยทั้งสองรับผิดเพียงเท่าที่ศาลชั้นต้นกำหนด ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ตามสัญญาซื้อขายโครงการระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ข้อ 7.2 มีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าจำนวนหนี้โดยไม่รวมถึงดอกเบี้ยและเบี้ยปรับนั้น เห็นว่า ข้อเถียงดังกล่าวจำเลยที่ 2 มิได้ยกเป็นข้อต่อสู้มาในคำให้การจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 2 ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแทนจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินต่อโจทก์การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินร่วมกับจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนที่โจทก์ 2,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1