คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2408/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อข้อความและเอกสารท้ายฟ้องที่หาว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์ ไม่มีความหมายชัดแจ้งอันจะพึงเห็นได้อยู่ในตัวว่าเป็นการใส่ความ ทั้งโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าข้อความตอนใดเป็นการใส่ความโจทก์โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังอย่างไร เพียงแต่บรรยายคำว่า “อัปมงคลฟิล์ม” และ “บริษัทขี้เรื้อน” จำเลยมีเจตนาจะให้ผู้อ่านเข้าใจว่าหมายถึงโจทก์เท่านั้น จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์โดยพิมพ์ข้อความลงในหนังสือพิมพ์บางกอกเดลิไทม์รายวัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332, 83, 86, 91, 50 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2484 มาตรา 48 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 2, 5 และสั่งให้ยึดและทำลายหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 14 กันยายน 2521 ทั้งหมด ให้โฆษณาคำพิพากษาของศาลในคดีนี้ทั้งหมดในหนังสือพิมพ์ของจำเลยและฉบับอื่นด้วย ห้ามมิให้จำเลยประกอบวิชาชีพหรืออาชีพในการทำหรือจำหน่ายหนังสือพิมพ์หรือเขียนข้อความลงในหนังสือพิมพ์อีกต่อไปมีกำหนด 5 ปีนับแต่วันพ้นโทษเป็นต้นไป

ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องว่า คดีนี้เป็นการฟ้องซ้อนกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 10509/2521 ของศาลแขวงพระนครเหนือ ศาลชั้นต้นสอบโจทก์ โจทก์แถลงว่า นายสมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีของศาลแขวงพระนครเหนือ เป็นกรรมการบริษัทโจทก์ในคดีนี้ และเป็นผู้มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัทโจทก์ด้วยได้ฟ้องเป็นการส่วนตัวจำเลยแถลงว่า ข้อความตามเอกสารท้ายฟ้องจำเลยได้เขียนในหนังสือพิมพ์ ฉบับนั้นจริง ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องสืบพยานและเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมกันกระทำความผิดโดยการเขียนและพิมพ์โฆษณาซึ่งข้อความว่า “แล้วคนหนุ่มหยั่งเขาก็เชื่อสนิทใจในพฤติการณ์ “อัปมงคลฟิล์ม” ยุทธนา มุกดาสนิทสะอึกกับคำกล่าวอ้างของ “บริษัทขี้เรื้อน” ที่ว่ากำกับหนัง 13 ล้าน “แผลเก่า”เพียง 1.29 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ก็ 7 เดือนที่ยุทธนา มุกดาสนิท ช่วยเชิด ทรงศรีกำกับฯ จนขึ้นชื่อไตเติ้ลหราว่าเป็น “ผู้ช่วยผู้กำกับฯ” นั่นมันอะไรกัน? หือม์ – มานพ อัมพุช? ” ปรากฏรายละเอียดตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารท้ายฟ้อง ข้อความดังกล่าวและเอกสารท้ายฟ้องไม่มีความหมายชัดแจ้งอันจะพึงเห็นได้อยู่ในตัวว่าเป็นการใส่ความ ทั้งโจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องว่าข้อความตอนใดเป็นการใส่ความโจทก์โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังอย่างไร เพียงแต่บรรยายว่า คำว่า”อัปมงคลฟิล์ม” และ “บริษัทขี้เรื้อน” จำเลยมีเจตนาจะให้ผู้อ่านเข้าใจว่าหมายถึงโจทก์เท่านั้น ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 คดีไม่มีมูลดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันมา ไม่จำต้องพิจารณาฎีกาข้ออื่นของโจทก์ต่อไป

พิพากษายืน

Share