แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์ผู้เสียหาย โดยใช้กำลังประทุษร้ายด้วยการชกที่ตาซ้ายของผู้เสียหาย 1 ครั้ง โดยมิได้บรรยายฟ้องว่าเป็นอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 339 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องไว้จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ศาลไม่อาจนำข้อเท็จจริงมาลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่ จำเลยคงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 80, 91, 338, 339 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ในความผิดฐานชิงทรัพย์แก่ผู้เสียหายเป็นเงิน 6,000 บาท บวกโทษจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 87/2543 และ 136/2544 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ระหว่างพิจารณา นางสาว ป. ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 338, 338 ประกอบมาตรา 80, 339 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานรีดเอาทรัพย์ จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 2 กระทง จำคุก 12 เดือน ฐานพยายามรีดเอาทรัพย์และฐานชิงทรัพย์ เป็นความผิดต่อเนื่องเป็นกรรมเดียวให้ลงโทษฐานชิงทรัพย์ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 5 ปี 12 เดือน บวกโทษจำคุกที่รอไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 87/2543 และ 136/2543 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษในคดีนี้อีกคดีละ 6 เดือน รวมเป็นจำคุก 5 ปี 24 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 6,000 บาท แก่โจทก์ร่วมด้วย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าก่อนเกิดเหตุโจทก์ร่วมและจำเลยมีเพศสัมพันธ์กัน ต่อมาโจทก์ร่วมแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเป็นคดีนี้ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีตัวโจทก์ร่วมเบิกความว่า ประมาณต้นเดือนกันยายน 2543 มารดาโจทก์ร่วมไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล โจทก์ร่วมอยู่บ้านตามลำพัง จำเลยมาขอดูวีซีดีซึ่งอยู่ในห้องนอนของโจทก์ร่วมแล้วจำเลยได้ปลุกปล้ำกระทำชำเราโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมไม่กล้าเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้มารดาทราบเพราะกลัวถูกตี ในระหว่างนั้นจำเลยได้กระทำชำเราโจทก์ร่วมอีกหลายครั้ง แต่ครั้งหลัง ๆ มิได้มีการบังคับขืนใจ และเมื่อมารดาโจทก์ร่วมกลับมาอยู่ที่บ้านจึงไม่ได้มีเพศสัมพันธ์ต่อกัน และหลังจากที่โจทก์ร่วมกับจำเลยมีเพศสัมพันธ์กันแล้วจำเลยได้ขอเงินโจทก์ร่วมหลายครั้งโดยขู่ว่า หากไม่ให้จะบอกเรื่องที่เกิดขึ้นให้มารดาโจทก์ร่วมทราบ โจทก์ร่วมกลัวมารดารู้เรื่องจึงยอมให้เงินจำเลยตลอดมาจนวันที่ 6 กรกฎาคม 2544 โจทก์ร่วมหมดความอดทนจึงไม่ยอมให้เงินจำเลยอีกจึงถูกจำเลยทำร้ายและเอาเงิน 3,000 บาท กับแหวนทองคำ 1 วง ราคา 3,000 บาท ของโจทก์ร่วมไป เห็นว่า โจทก์ร่วมเบิกความเป็นประจักษ์พยานว่าจำเลยข่มขู่โจทก์ร่วมให้มอบเงินให้หลายครั้ง หากไม่ให้จะเปิดเผยเรื่องราวที่โจทก์ร่วมและจำเลยมีเพศสัมพันธ์กันให้นางมั่งล้วนมารดาโจทก์ร่วมทราบ จนโจทก์ร่วมต้องยอมให้เงินแก่จำเลยตามที่ข่มขู่ จนกระทั่งครั้งหลังสุดโจทก์ร่วมไม่ยอมให้เงินจึงถูกจำเลยทำร้ายและชิงทรัพย์ไปนั้น โจทก์ร่วมเป็นหญิงสาวหากไม่มีเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจริงแล้วย่อมไม่เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงว่าถูกจำเลยกระทำชำเราให้เป็นที่เสียหายแก่ตนเช่นนั้น การที่โจทก์ร่วมต้องยอมให้เงินแก่จำเลยตามที่ถูกข่มขู่ตลอดมาก็เนื่องจากโจทก์ร่วมยินยอมสมัครใจร่วมประเวณีกับจำเลยอันเป็นการนำความเสื่อมเสียมาสู่ครอบครัวของโจทก์ร่วมนั่นเอง และเหตุที่โจทก์ร่วมนำเรื่องนี้มาเปิดเผยก็เป็นสิ่งที่น่าอับอายสำหรับโจทก์ร่วม เพราะมีแต่จะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้หญิงมากยิ่งขึ้น จึงไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์ร่วมจะต้องกล่าวหาเพื่อกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษดังจำเลยกล่าวอ้างและนำสืบต่อสู้ว่าการให้เงินเป็นความยินยอมของโจทก์ร่วมมิใช่เกิดจากการข่มขู่แต่อย่างใด คำเบิกความของโจทก์ร่วมจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยได้ข่มขู่เอาเงินจากโจทก์ร่วมหลายครั้งนับแต่ต้นเดือนกันยายน 2543 จนถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2544 จนโจทก์ร่วมหมดความอดทนและไม่ยอมให้เงินจำเลยอีก อันเป็นเหตุให้จำเลยได้ใช้กำลังประทุษร้ายชกต่อยทำร้ายโจทก์ร่วมและลักเอาเงิน 3,000 บาท กับแหวนทองคำ 1 วง ราคา 3,000 บาท ของโจทก์ร่วมไป ซึ่งจากการที่โจทก์ร่วมถูกทำร้ายจนเบ้าตาเขียวช้ำ จนเป็นเหตุให้มารดาโจทก์ร่วมได้ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดและนำโจทก์ร่วมเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ทั้งได้เบิกความเป็นพยานสนับสนุนคำเบิกความของโจทก์ร่วมทำให้มีน้ำหนักมั่นคงยิ่งขึ้น จำเลยเองก็ยอมรับว่าในวันดังกล่าวมีปัญหากัน เพียงแต่จำเลยอ้างว่าโจทก์ร่วมจะตีจำเลย จำเลยจึงปัดมือไปโดนตาของโจทก์ร่วมเท่านั้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่อ้างว่าวันที่จำเลยมีปัญหากับโจทก์ร่วมเกิดขึ้นก่อน 1 สัปดาห์ที่จำเลยจะถูกจับในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 มิใช่วันที่ 6 มกราคม 2544 ซึ่งจำเลยอยู่ที่ศูนย์พัฒนาคุณธรรมเพื่อเตรียมตัวก่อนบวชนั้น เห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยขัดกับร่องรอยที่โจทก์ร่วมถูกจำเลยทำร้าย นอกจากนี้หลังเกิดเหตุโจทก์ร่วมกับมารดาโจทก์ร่วมยังได้เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนทันที กับมีพันตำรวจตรีพัฒนา ฉายาวัฒน์ พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐานเบิกความยืนยันสนับสนุนคำเบิกความของโจทก์ร่วมและมารดาโจทก์ร่วมจึงรับฟังได้ว่าวันที่โจทก์ร่วมถูกจำเลยทำร้ายเป็นวันที่ 6 กรกฎาคม 2544 ข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ข้อที่จำเลยฎีกาประการต่อมาว่าสถานที่ซึ่งโจทก์ร่วมกล่าวหาจำเลยว่าไปดักรอและขู่บังคับเอาเงินนั้นยังเป็นข้อที่น่าสงสัยอยู่เพราะโจทก์ร่วมไม่ได้ให้รายละเอียดถึงสถานที่เกิดเหตุและพฤติการณ์แต่ละคราวให้มีความน่าเชื่อถือ ทั้งพนักงานสอบสวนก็ไม่ได้ตรวจสถานที่เกิดเหตุทำให้ไม่อาจเข้าใจได้ว่าสถานที่เกิดเหตุมีสภาพเปลี่ยวลับตาคนพอที่บังคับข่มขู่ได้หรือไม่นั้น เห็นว่า สถานที่ซึ่งจำเลยไปดักรอโจทก์ร่วมและขู่บังคับเอาเงินนั้น แม้จะไม่ได้ความชัดว่าเป็นสถานที่ใด แต่ก็อยู่ในท้องที่ตำบลพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม และการที่พนักงานสอบสวนมิได้จัดทำแผนที่เกิดเหตุไว้ก็หาเป็นข้อพิรุธแต่อย่างใดไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมารดาโจทก์ร่วมให้เงินโจทก์ร่วม 3,000 บาท เพื่อลงทะเบียนการเรียน แต่โจทก์ร่วมมิได้นำไปลงทะเบียนก็เพราะจำเลยเอาไปดังที่โจทก์ร่วมเบิกความนั่นเอง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ในความผิดฐานชิงทรัพย์นั้น โจทก์ฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์ผู้เสียหายโดยใช้กำลังประทุษร้ายด้วยการชกที่ตาซ้ายของผู้เสียหาย 1 ครั้ง โดยมิได้บรรยายฟ้องว่าเป็นอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาและพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 339 วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายไม่ถูกต้อง เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องไว้ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ศาลไม่อาจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่ โดยจำเลยคงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 338 ประกอบมาตรา 80, 339 วรรคหนึ่ง การกระทำเป็นความผิดต่อเนื่องเป็นกรรมเดียวกันให้ลงโทษฐานชิงทรัพย์ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน รวมกับโทษฐานรีดเอาทรัพย์อีก 2 กระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน เป็นจำคุก 12 เดือน บวกโทษจำคุกที่รอไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 87/2543 และ 136/2543 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษในคดีนี้อีก 6 เดือน รวมเป็นจำคุก 2 ปี 30 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7