คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2403/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดระบุห้ามมิให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กำหนดโดยมิได้ระบุจำกัดเฉพาะกรณีของการกู้ยืมเงินเท่านั้น ดังนั้น จึงใช้บังคับในเรื่องดอกเบี้ยเกี่ยวกับความรับผิดต่อธนาคารในการที่ธนาคารได้ออกหนังสือสัญญาค้ำประกันให้แก่บุคคลภายนอกด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2529 จำเลยที่ 1ขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันในการที่จำเลยที่ 1 จะขออนุญาตจัดหางาน ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ต่อนายทะเบียนจัดหางานกลางกรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทยภายในวงเงินไม่เกิน300,000 บาท มีกำหนดเวลา 12 เดือน โดยจำเลยที่ 1ตกลงว่าหากโจทก์ต้องเสียหายและจ่ายเงินแทนจำเลยที่ 1ไปตามภาระที่โจทก์ได้ออกหนังสือค้ำประกัน จำเลยที่ 1ยอมรับผิดใช้ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีโจทก์ตกลงและได้ออกหนังสือค้ำประกันให้จำเลยที่ 1 ไปในวันที่10 กุมภาพันธ์ 2529 จำเลยที่ 2 ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528กรมแรงงานทวงถามให้โจทก์ชำระเงิน โจทก์ได้ชำระเงินแก่กรมแรงงานแทนจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 300,000 บาท เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2532 โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองใช้เงินแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จำเลยทั้งสองต้องชำระดอกเบี้ยในต้นเงิน 300,000 บาท แก่โจทก์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่1 สิงหาคม 2532 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2533 เป็นเงิน27,986.30 บาท และอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 16.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2533 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน24,817.80 บาท รวม 52,804.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี ของต้นเงิน 300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระต้นเงินจำนวน 174,377 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2532 จนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2533และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี ของต้นเงิน174,377 บาท นับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 300,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2532จนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2533 และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ16.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2529 โจทก์ได้ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อนายทะเบียนจัดหางานกลาง กรมแรงงานกระทรวงมหาดไทย โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.7 ต่อมาจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 กรงแรงงานได้เรียกให้โจทก์ชำระเงิน 300,000 บาท ตามหนังสือค้ำประกันโจทก์ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันที่1 สิงหาคม 2532 ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.10ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกที่ว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดใช้เงินให้แก่โจทก์จำนวนเท่าใดจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไม่ได้ค้ำประกันห้างหุ้นส่วนจำกัดมาตุภูมิเซอร์วิส และมีระยะเวลาการค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2529 ถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2530 ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดจากการผิดสัญญาของห้างหุ้นส่วนจำกัดมาตุภูมิเซอร์วิสก็ดี และหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2530 ก็ดี จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่าตามหนังสือค้ำประกันที่โจทก์ออกให้แก่จำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.5 ข้อ 4 ระบุว่า “ข้าพเจ้าขอรับรองว่าหนังสือสัญญาค้ำประกันฉบับนี้ออกให้บริษัทจัดหางานมาตุภูมิจำกัด แทนหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารเลขที่ 41/2527ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2527 ซึ่งรวมภาระแล้วไม่เกินวงเงิน300,000 บาท” ปรากฏว่าหนังสือค้ำประกันเลขที่ 41/2527เป็นหนังสือประกันที่โจทก์ออกให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดมาตุภูมิเซอร์วิส โดยโจทก์ยอมเป็นผู้ค้ำประกันห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวต่อนายทะเบียนจัดหางานกลางเป็นเงิน 300,000 บาทดังนี้ ข้อตกลงตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 4ดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์ยอมผูกพันต่อนายทะเบียนจัดหางานกลางเพื่อชำระหนี้ในบรรดาความรับผิดภาระของหนังสือค้ำประกันเลขที่ 41/2527 ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2527 ด้วย หนังสือค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.5 และสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมายจ.7 ก็ไม่ได้ระบุระยะเวลาการค้ำประกันไว้ นอกจากนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้แก่โจทก์เอกสารหมาย จ.7ข้อ 9 ยังระบุไว้อีกว่า “ผู้ค้ำประกันยินยอมให้ถือสัญญานี้เป็นสัญญาค้ำประกันมีผลใช้บังคับได้ตลอดไป ผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากภาระค้ำประกันตามสัญญานี้ ต่อเมื่อได้จัดให้ลูกหนี้ชำระหนี้ หรือชำระหนี้แทนลูกหนี้แก่ธนาคารเสร็จสิ้นทุกรายการและธนาคารยินยอมให้พ้นจากภาระค้ำประกันด้วยลายลักษณ์อักษรแล้ว” ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการค้ำประกันแบบไม่มีจำกัดเวลาหลุดพ้นจากความผูกพันในความรับผิดที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นดังนั้น บรรดาความเสียหายไม่ว่าจะเกิดจากการผิดสัญญาของของห้างหุ้นส่วนจำกัดมาตุภูมิเซอร์วิส ตามหนังสือค้ำประกันเลขที่41/2527 ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2527 เอกสารหมาย จ.6หรือเกิดจากการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือค้ำประกันลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2529 เอกสารหมาย จ.5 และจะเกิดหลังจากวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2530 หรือไม่ก็ตาม จำเลยที่ 2ก็ยังต้องผูกพันตนต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7เมื่อโจทก์ชำระเงินจำนวน 300,000 บาท ให้แก่กรมแรงงานตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 แล้วจำเลยที่ 2จึงต้องรับผิดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนโจทก์ ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7
ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการต่อมามีว่า สัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.7 คุ้มถึงดอกเบี้ยหรือไม่และจำนวนเท่าใด จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ยเพราะตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7 ไม่ได้ระบุให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ย หากโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยก็มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นั้นเห็นว่า ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7 ข้อ ระบุว่า “เนื่องในการที่ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อให้แก่บริษัทจัดกางานมาตุภูมิ จำกัด โดยธนาคารให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ อาทิเช่น ออกหนังสือค้ำประกัน นั้น ผู้ค้ำประกันยอมเข้าประกันการชำระหนี้ดังกล่าวของลูกหนี้ภายในวงเงิน300,000 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศกำหนดขึ้นเป็นครั้งคราว หรือซึ่งธนาคารจะได้กำหนดเป็นคราว ๆ ไปในทางเพิ่มหรือลดตามภาวะเศรษฐกิจการเงินของประเทศ” ตามข้อตกลงดังกล่าวโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2 ตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศกำหนดขึ้นเป็นครั้งคราว ข้อหนี้ในทางนำสืบของโจทก์ โจทก์อ้างส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ. 15 เป็นพยานหลักฐาน ซึ่งปรากฏตามเอกสารดังกล่าวว่าเป็นประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด 2 ฉบับ ฉบับแรกลงวันที่ 3 มีนาคม 2529ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2529 กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี และฉบับหลังลงวันที่16 มีนาคม 2533 ให้ใช้บังคับในวันเดียวกัน กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 16.5 ต่อปีประกาศฉบับหลังได้ยกเลิกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2532 ซึ่งโจทก์มิได้อ้างส่งประกาศฉบับที่ถูกยกเลิกดังกล่าวต่อศาล เมื่อตามคำฟ้องโจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 รับผิดในดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2532 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2533 ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีแต่โจทก์มิได้นำสืบถึงประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งใช้บังคับอยู่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวว่าได้กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราเท่าใด โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้จำเลยที่ 2 รับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในช่วงระยะเวลานั้นได้โจทก์คงมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 2รับผิดในดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวเท่านั้น ส่วนดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2533เป็นต้นไป โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 2 รับผิดได้ในอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี ตามเอกสารหมาย จ.15 ดังที่โจทก์นำสืบ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องอัตราดอกเบี้ยให้ใช้บังคับเฉพาะกรณีของการกู้ยืมเงินเท่านั้น นั้น เห็นว่า ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับหลังตามเอกสารหมาย จ.15 ข้อ 4 ระบุห้ามมิให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กำหนดโดยมิได้ระบุจำกัดเฉพาะกรณีของการกู้ยืมเงินเท่านั้นดังนั้น ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวจึงใช้บังคับในเรื่องดอกเบี้ยเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7ได้ ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง เกี่ยวกับดอกเบี้ยระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2532ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2533 ที่จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์เป็นหนี้ที่เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้แม้จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์และฎีกา แต่ศาลฎีกาเห็นควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 และ 247″
พิพากษาแก้เป็นว่า ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2532จนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2533 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share