คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2403-2430/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง แต่ในวรรคสามบัญญัติว่า “ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น” และวรรคสี่บัญญัติว่า “การจ้างที่มีกำหนดเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้าง ซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในระยะเวลาไม่เกินสองปี โดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง” จะเห็นได้ว่า ในวรรคสามกำหนดเรื่องระยะเวลาการจ้างซึ่งต้องกำหนดไว้แน่นอน ส่วนวรรคสี่เป็นเรื่องกำหนดประเภทของงานที่สามารถจะทำสัญญาจ้างให้มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนได้ ซึ่งมีอยู่ 3 ประเภท โดยในตอนท้ายของวรรคสี่ที่กำหนดประเภทของงานนั้นได้กำหนดไว้ด้วยว่างานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี คำว่า งานนั้น ย่อมหมายถึงงานทั้งสามประเภทที่กำหนดไว้นั่นเองจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี กำหนดระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ดังกล่าวจึงหาได้หมายถึงระยะเวลาการจ้างที่นายจ้างทำสัญญาจ้างลูกจ้างไม่
การขอแก้ไขคำฟ้องนั้นไม่อาจกระทำได้แต่ฝ่ายเดียวศาลแรงงานกลางต้องส่งสำเนาคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยทั้งสี่ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน และให้จำเลยทั้งสี่มีโอกาสคัดค้านเสียก่อนที่จะพิจารณาสั่งอนุญาต และเมื่ออนุญาตให้โจทก์ที่ 1 แก้ไขคำฟ้องได้แล้วก็จะต้องให้จำเลยทั้งสี่มีโอกาสบริบูรณ์ในอันที่จะตรวจโต้แย้งและหักล้างข้ออ้างที่โจทก์ที่ 1 กล่าวไว้ในคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเสียก่อน จึงจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดในประเด็นที่โจทก์ที่ 1 ได้แก้ไขคำฟ้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21, 181 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 การที่ศาลแรงงานกลางนำข้ออ้างตามคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 มาวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 อ้างว่าได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 117,150 บาท จำเลยทั้งสี่ไม่ให้การปฏิเสธ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่ยอมรับ แล้วคำนวณค่าชดเชยจากค่าจ้างสุดท้ายตามอัตราดังดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

คดีทั้งยี่สิบแปดสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันกับคดีอื่นอีกสองสำนวน ซึ่งศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีไปแล้ว โดยให้เรียกโจทก์ทั้งยี่สิบแปดสำนวนนี้ว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 30 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งยี่สิบแปดสำนวนฟ้องและโจทก์ที่ 1 แก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันจ่ายค่าชดเชยส่วนที่ขาด สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งหมด และจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์ที่ 4 พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 และ 15 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ทั้งยี่สิบแปดสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 162,900 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 73,800 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 75,000 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 60,000 บาท โจทก์ที่ 7 จำนวน 14,580 บาท โจทก์ที่ 8 จำนวน 14,580 บาท โจทก์ที่ 9 จำนวน 14, 580 บาท โจทก์ที่ 10 จำนวน 19,800 บาท โจทก์ที่ 11 จำนวน 14,580 บาท โจทก์ที่ 12 จำนวน 7,200 บาท โจทก์ที่ 13 จำนวน 14,580 บาท โจทก์ที่ 14 จำนวน 14,580 บาท โจทก์ที่ 15 จำนวน 38,250 บาท โจทก์ที่ 16 จำนวน 14,580 บาท โจทก์ที่ 17 จำนวน 16,200 บาท โจทก์ที่ 18 จำนวน 14,580 บาท โจทก์ที่ 19 จำนวน 14,580 บาท โจทก์ที่ 20 จำนวน 27,000 บาท โจทก์ที่ 21 จำนวน 14,580 บาท โจทก์ที่ 22 จำนวน 14,580 บาท โจทก์ที่ 23 จำนวน 14,580 บาท โจทก์ที่ 24 จำนวน 18,000 บาท โจทก์ที่ 25 จำนวน 14,850 บาท โจทก์ที่ 26 จำนวน 35,100 บาท โจทก์ที่ 27 จำนวน 31,500 บาท โจทก์ที่ 28 จำนวน 30,600 บาท โจทก์ที่ 29 จำนวน 14,580 บาท และแก่โจทก์ที่ 30 จำนวน 14,580 บาท และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 24 จำนวน 6,000 บาท โจทก์ที่ 25 จำนวน 4,860 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า งานที่จำเลยทั้งสี่รับจ้างมาทำเป็นงานในโครงการเฉพาะ ไม่ใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลยทั้งสี่ และอุทธรณ์ว่าความในกฎหมายที่ว่า กำหนดระยะเวลางานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสี่ หมายถึงระยะเวลาการจ้างที่นายจ้างทำสัญญาจ้างกับลูกจ้างไม่ได้หมายถึงงานที่นายจ้างจะต้องทำให้แล้วเสร็จนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง แต่ในวรรคสามบัญญัติว่า “ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น” และวรรคสี่บัญญัติว่า “การจ้างที่มีกำหนดเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปี โดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง” จะเห็นได้ว่า ในวรรคสามกำหนดเรื่องระยะเวลาการจ้างซึ่งต้องกำหนดไว้แน่นอน ส่วนวรรคสี่เป็นเรื่องกำหนดประเภทของงานที่สามารถจะทำสัญญาจ้างให้มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนได้ ซึ่งมีอยู่ 3 ประเภท โดยในตอนท้ายของวรรคสี่ที่กำหนดประเภทของงานนั้นได้กำหนดไว้ด้วยว่างานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี คำว่า งานนั้น ย่อมหมายถึงงานทั้งสามประเภทที่กำหนดไว้นั่นเองจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี กำหนดระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ดังกล่าวจึงหาได้หมายถึงระยะเวลาการจ้างที่นายจ้างทำสัญญาจ้างลูกจ้างไม่ หากหมายถึงระยะเวลาการจ้างก็ต้องระบุไว้ในวรรคสามซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับระยะเวลาการจ้าง การนำระยะเวลางานมากำหนดไว้ในวรรคสี่จึงทำให้เห็นได้ว่าหมายถึงระยะเวลาของงานทั้งสามประเภทนั่นเอง เมื่องานที่จำเลยทั้งสี่รับจ้างมาทำมีกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จเกิน 2 ปี แม้จะเป็นงานในโครงการเฉพาะ จำเลยทั้งสี่ก็ไม่ได้รับการยกเว้นการจ่ายค่าชดเชย จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่างานที่จำเลยทั้งสี่รับจ้างมาทำเป็นงานในโครงการเฉพาะหรือไม่
ส่วนที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์ที่ 1 แก้ไขคำฟ้องตามคำร้องลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 (ที่ถูกเป็น 2541) โดยไม่ได้ส่งสำเนาให้จำเลยทั้งสี่และไม่ได้ให้โอกาสจำเลยทั้งสี่คัดค้าน แล้วนำมาวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 อ้างในคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องว่าได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 117,150 บาท จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ให้การปฏิเสธ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่ให้การรับว่าได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ที่ 1 ในอัตราดังกล่าวจริง จึงคิดเป็นค่าชดเชยของโจทก์ที่ 1 จำนวน 702,900 บาท แต่จำเลยทั้งสี่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1 แล้ว 540,000 บาท และพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1 อีก 162,900 บาท โดยไม่ให้จำเลยทั้งสี่ได้มีโอกาสตรวจโต้แย้งและหักล้างข้ออ้างของโจทก์ที่ 1 ที่กล่าวไว้ในคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง คำสั่งและคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางดังกล่าวจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า การขอแก้ไขคำฟ้องคดีนี้ไม่อาจกระทำได้แต่ฝ่ายเดียว ศาลแรงงานกลางจึงต้องส่งสำเนาคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยทั้งสี่ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน และให้จำเลยทั้งสี่มีโอกาสคัดค้านเสียก่อนที่จะพิจารณาสั่งอนุญาต และเมื่ออนุญาตให้โจทก์ที่ 1 แก้ไขคำฟ้องได้แล้วก็จะต้องให้จำเลยทั้งสี่มีโอกาสบริบูรณ์ในอันที่จะตรวจโต้แย้งและหักล้างข้ออ้างที่โจทก์ที่ 1 กล่าวไว้ในคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเสียก่อน จึงจะพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดในประเด็นที่โจทก์ที่ 1 ได้แก้ไขคำฟ้องได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21,181 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 การที่ศาลแรงงานกลางนำข้ออ้างตามคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 มาวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 อ้างว่าได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 117,150 บาท จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ให้การปฏิเสธถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่ยอมรับ แล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1 โดยคิดคำนวณจากค่าจ้างสุดท้ายตามอัตราดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งศาลแรงงานกลางที่อนุญาตให้โจทก์ที่ 1 แก้ไขคำฟ้อง และยกคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 เฉพาะประเด็นเรื่องจำนวนค่าชดเชย ให้ศาลแรงงานกลางส่งสำเนาคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยทั้งสี่ และให้จำเลยทั้งสี่ได้มีโอกาสคัดค้านก่อนที่จะพิจารณาสั่ง และดำเนินกระบวนพิจารณาในประเด็นจำนวนค่าชดเชยของโจทก์ที่ 1 ใหม่ โดยให้จำเลยทั้งสี่ได้มีโอกาสบริบูรณ์ในอันที่จะตรวจโต้แย้งและหักล้างข้ออ้างของโจทก์ที่ 1 ที่กล่าวไว้ในคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเสียก่อน แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share