แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
รายการต่อท้ายตัวพินัยกรรมซึ่งผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงชื่อไว้ และรายการต่อท้ายนั้นเขียนต่อท้ายไว้หลังลายมือชื่อที่ผู้ทำพินัยกรรมและพยานที่เซ็นไว้ และไม่มีชื่อผู้ทำพินัยกรรมและพยายเซ็นกำกับรายการอีกทีหนึ่งก็นับว่าใช้ได้เพราะมันติดต่อเนื่องกับตัวพินัยกรรมแท้ สืบเนื่องเป็นฉบับเดียวกัน.
ย่อยาว
โจทก์จำเลยตั้งพิพาทในที่นาโฉนด ๑๐๑ ตำบลคลองประเวศฝั่งใต้ อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร ตามโฉนดนี้มีชื่อโต๊ะหะยีมุดเป็นเจ้าของมีเนื้อที่ ๔๒ ไร่เศษ พิพาทกันบางส่วน
โฉนดนี้มีรูปยาวจากเหนือมาใต้ แบ่งออกเป็น ๔ แถว แต่ละแถวเนื้อที่ปานกัน แถวแรกซึ่งอยู่ริมตะวันตกกับแถวที่ ๒ ถัดไปทางตะวันออกนั้น เป็นส่วนของนายเข็ม นางบูล (บุตรนางทิพ) ตามลำดับ ไม่เกี่ยวกับที่พิพาทกันในคดีนี้ ส่วนที่ถัดไปอีก ๒ แถว คือแถวที่ ๓ ตลอดไปจนถึงแถวริมสุดทางตะวันออก ซึ่งเป็นแถวที่ ๔ เป็นที่ ๆ โจทก์ตั้งพิพาทกัน
โจทก์ว่า ๒ แถวนี้เป็นส่วนที่โต๊ะหะยีมุดบิดายกให้โจทก์เป็นกรรมสิทธิ์ครอบครองมา ๑๕ ปีแล้ว ครั้งบิดาตายโจทก์ไปขอร้องขอถอนชื่อโต๊ะหะยีมุดออกใช่ชื่อโจทก์แทนในโฉนด จำเลยกลับคัดค้านและเข้าทำนาในแถวที่ ๔ เสียด้วย จึงฟ้องขอให้ศาลแสดงว่าที่พิพาท ๒ แถวนี้เป็นของโจทก์ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง
จำเลยให้การต่อสู้ว่าเป็นที่ของโต๊ะหะยีมุดกับจำเลยร่วมกันครอบครองทำกินมาทุกปี มิได้ทอดทิ้ง โจทก์ไม่ได้ครอบครอง และเฉพาะแถวที่ ๔ โต๊ะหะยีมุดได้ทำพินัยกรรมยกให้นางสาวเซาะซึ่งเป็นบุตรจำเลยกับโต๊ะหะยีมุด
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่านาแถว ๔ เป็นของ น.ส. เซาะ เพราะโต๊ะหะยีมุดทำพินัยกรรมยกให้ น.ส.เซาะ ส่วนแถว ๓ เป็นของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืนและชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายว่า รายการทรัพย์ที่พินัยกรรมระบุยกให้บรรดาผู้รับพินัยกรรมนั้น แม้เป็นรายการต่อท้ายติดเนื่องกับตัวพินัยกรรม แม้ผู้ทำพินัยกรรมข้างต้นไม่ได้ลงชื่อกำกับต่อท้ายรายการอีกก็ไม่ทำให้พินัยกรรมเสียไป เพราะสืบเนื่องเป็นฉบับเดียวกันอยู่ จึงเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์แบบ ใช้ได้ตามกฎหมาย