แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีที่ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา เมื่อผู้ร้องสอดยื่นคำร้องครั้งแรก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องสอดเสียค่าขึ้นศาลให้ครบถ้วนก่อน ผู้ร้องสอดสามารถปฏิบัติได้แต่ก็ไม่ปฏิบัติ และในการยื่นคำร้องสอดครั้งที่สองก่อนที่จะสืบพยานโจทก์นัดแรก ผู้ร้องสอดก็ไม่เสียค่าขึ้นศาลให้ถูกต้องอีก แม้ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องครั้งที่สามเมื่อสืบพยานโจทก์ไปแล้ว 2 ปาก เหลือพยานโจทก์ที่จะสืบต่อไปอีก 2 ปากอันเป็นเวลาที่คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นก็ตาม แต่พฤติการณ์ของผู้ร้องสอดดังกล่าวก็ชอบที่ศาลชั้นต้นจะไม่อนุญาตให้ร้องสอดเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) ได้ หาจำต้องอนุญาตทุกกรณีไม่ และที่ผู้ร้องสอดอ้างว่าทนายคนเดิมไม่เคยแจ้งให้ผู้ร้องสอดทราบว่าต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างใด ผู้ร้องสอดอาศัยทนายความดำเนินคดีให้ ทนายความดำเนินคดีบกพร่องไปในทางที่ไม่ชอบนั้นผู้ร้องสอดก็ไม่อาจอ้างเหตุดังกล่าวได้ เพราะทนายความเป็นตัวแทนของผู้ร้องสอดเอง ผู้ร้องสอดต้องรับผิดที่ตัวแทนได้กระทำการแทนไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยขาดนัดพิจารณาและนัดสืบพยานโจทก์ซึ่งการสืบพยานโจทก์ในวันดังกล่าว 2 ปาก ทนายจำเลยก็มาซักค้านพยานโจทก์ด้วยโดยมิได้คัดค้านกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการกำหนดหน้าที่นำสืบและคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งว่าจำเลยขาดนัดนัดพิจารณาแต่อย่างใด จึงมีผลว่าจำเลยยอมรับการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ผ่านมาแล้ว จำเลยเพิ่งมายื่นคำร้องคัดค้านว่า ศาลชั้นต้นกำหนดหน้าที่นำสืบและกำหนดให้จำเลยนำพยานเข้าสืบก่อนไม่ชอบในวันหลังจากสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว การที่จำเลยคัดค้านดังกล่าวก็เพื่อจำเลยจะมีโอกาสนำพยานมาสืบใหม่นั่นเอง ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่าการกำหนดหน้าที่นำสืบและหน้าที่การนำพยานเข้าสืบไม่ถูกต้องอย่างใด กรณีไม่มีเหตุที่จะกำหนดหน้าที่นำสืบและการนำพยานเข้าสืบใหม่ จำเลยโดยทนายจำเลยทราบวันนัดชี้สองสถานแล้วไม่มาศาลศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดให้จำเลยนำพยานเข้าสืบก่อน แล้วนัดสืบพยานจำเลยแม้จะจำเลยไม่มาในวันนัดชี้สองสถานก็ถือว่าจำเลยทราบกระบวนพิจารณาของศาลในวันนั้นแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 วรรคสอง (เดิม)เมื่อศาลกำหนดวันนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 14 กรกฎาคม 2531เวลา 9 นาฬิกา จึงต้องถือว่าจำเลยทราบวันเวลานัดสืบพยานจำเลยแล้ว เมื่อจำเลยไม่มาศาลในวันนัดโดยมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลเสียก่อนลงมือสืบพยาน จำเลยจึงขาดนัดพิจารณา ข้อที่จำเลยอ้างว่าทนายจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริต จะนำมาเป็นข้ออ้างว่าจำเลยไม่จงใจขาดนัดหาได้ไม่เพราะทนายจำเลยเป็นตัวแทนของจำเลยเอง และศาลชั้นต้นก็ได้มีคำสั่งยกคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ไปแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอพิจารณาใหม่ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 205 วรรคสาม (3) สัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาททำที่บ้านจำเลย การต่อรองราคาทำต่อหน้าพันตรีถ.สามีจำเลย เหตุที่ไม่ได้ให้สามีจำเลยให้ความยินยอมในการซื้อขายเนื่องจากจำเลยบอกว่าจำเลยและสามีไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ประกอบกับสำเนา น.ส.3ก็มีชื่อจำเลยคือนางนิตยาสงวนจิตร เพียงผู้เดียวทั้งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ก็ยังระบุชื่อ น.ส.นิตยาสงวนจิตรพฤติการณ์ดังกล่าวจึงมีเหตุผลให้โจทก์เชื่อว่า จำเลยมิได้สมรสกับสามีจึงได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทกับจำเลย สัญญาดังกล่าวจึงผูกพันกันได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480และแม้โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้โอนที่พิพาทตามสัญญาจะซื้อขายโดยโจทก์ไม่ได้ขอชำระราคาที่ดินตอบแทนด้วย ก็ไม่เป็นเหตุให้ฟ้องไม่ชอบ เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องโอนที่พิพาทให้โจทก์ศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยโอนที่พิพาทให้โจทก์โดยมีเงื่อนไขให้โจทก์ชำระราคาที่ระบุไว้ในสัญญาได้ เพราะเป็นเรื่องการชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ การพิจารณาโดยขาดนัดอย่างเช่นคดีนี้เป็นการพิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียว ไม่มีการนำสืบพยานหลักฐานของจำเลยซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่มีหน้าที่นำพยานเข้าสืบก่อน กรณีไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 88(เดิม) โจทก์จึงมีสิทธิระบุพยานเพิ่มเติมได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 3 เนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน47 ตารางวา ให้โจทก์ราคา 485,000 บาท ตกลงจะโอนสิทธิหลังจากประกาศ 1 เดือน ครั้นถึงกำหนดจำเลยไม่ยอมโอนสิทธิในที่ดินให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยโอนสิทธิในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวแก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาจำเลย ให้จำเลยคืนเงินมัดจำ40,000 บาท และใช้ค่าเสียหาย 120,000 บาท แก่โจทก์อีกส่วนหนึ่งด้วย
จำเลยให้การว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นสินสมรส สามีจำเลยไม่ยินยอมให้ขาย โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริต ทั้งมิได้เสนอชำระหนี้ค่าที่ดินแก่จำเลยเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและค่าเสียหายก็เป็นเบี้ยปรับที่กำหนดไว้สูงเกินความจริงโดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าเสียหายอย่างไร ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา พันตรีถาวร สามีจำเลยยื่นคำร้องสอดแต่มิได้เสียค่าขึ้นศาลภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้อง
จำเลยขาดนัดพิจารณาและยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ศาลชั้นต้นยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 3 แก่โจทก์ โดยให้จำเลยชำระเงินค่าที่ดินที่ยังเหลืออยู่อีก 445,000 บาท แก่จำเลย หากจำเลยบิดพลิ้วให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงเจตนาแทน ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 60,000 บาท
ผู้ร้องสอดและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 3 ให้แก่โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้ร้องสอดและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ร้องสอดได้ยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามรวม 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องสอดเสียค่าขึ้นศาลให้ครบถ้วนเสียก่อนผู้ร้องสอดสามารถปฏิบัติได้ แต่ก็หาได้ปฏิบัติตามไม่ และในการยื่นคำร้องครั้งที่สองก่อนที่จะสืบพยานโจทก์นัดแรกผู้ร้องสอดก็ไม่เสียค่าขึ้นศาลให้ถูกต้องอีก แม้ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องครั้งที่สามในขณะที่คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นก็ตาม แต่พฤติการณ์ของผู้ร้องสอดดังกล่าวก็ชอบที่ศาลชั้นต้นจะไม่อนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)ได้ หาจำต้องอนุญาตทุกกรณีไปไม่ ที่ผู้ร้องสอดฎีกาว่าทนายความคนเดิมของผู้ร้องสอดไม่เคยแจ้งให้ผู้ร้องสอดทราบว่าจะต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างไร ผู้ร้องสอดอาศัยทนายความดำเนินคดีให้ ทนายความดำเนินคดีบกพร่องไปในทางที่ไม่ชอบนั้น ผู้ร้องสอดก็ไม่อาจอ้างเหตุดังกล่าวได้ เพราะทนายความเป็นตัวแทนของผู้ร้องสอดเอง ผู้ร้องสอดต้องรับผลตัวแทนได้กระทำการแทนไป
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ว่า การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยมีหน้าที่นำสืบในประเด็นข้อ 1 และให้จำเลยเป็นฝ่ายนำพยานเข้าสืบก่อนและไม่อนุญาตให้พิจารณาใหม่เป็นการไม่ชอบนั้นเห็นว่า ศาลชั้นต้นชี้สองสถานโดยกำหนดประเด็นพิพาทและหน้าที่นำสืบเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2531 ให้จำเลยเป็นฝ่ายนำพยานเข้าสืบก่อน โดยนัดสืบพยานจำเลยเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2531เมื่อถึงวันนัดจำเลยไม่มาศาล ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาและนัดสืบพยานโจทก์ต่อไปในวันที่ 3 ตุลาคม 2531ซึ่งการสืบพยานโจทก์ในวันดังกล่าวรวม 2 ปาก ทนายจำเลยก็มาซักค้านพยานโจทก์ด้วย โดยมิได้คัดค้านกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการกำหนดหน้าที่นำสืบและคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาแต่อย่างใด จึงมีผลว่าจำเลยยอมรับการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ผ่านมาแล้วจำเลยเพิ่งมายื่นคำร้องคัดค้านว่าศาลชั้นต้นกำหนดหน้าที่นำสืบในประเด็นข้อ 2 และให้จำเลยเป็นฝ่ายนำพยานเข้าสืบก่อนไม่ชอบ และขอพิจารณาใหม่เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2531หลังจากสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว ซึ่งเห็นได้ว่า การที่จำเลยคัดค้านดังกล่าวก็เพื่อจำเลยจะมีโอกาสนำพยานมาสืบใหม่นั่นเองซึ่งก็ไม่ปรากฏว่าการกำหนดหน้าที่นำสืบของศาลชั้นต้นไม่ถูกต้องแต่อย่างใด กรณีไม่มีเหตุที่จะกำหนดหน้าที่นำสืบและการนำพยานเข้าสืบใหม่ ส่วนที่จำเลยขอพิจารณาใหม่นั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นชี้สองสถานเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2531 จำเลยโดยทนายจำเลยได้ทราบวันนัดแล้วไม่มาศาล ซึ่งศาลชั้นต้นได้ชี้สองสถานและกำหนดให้จำเลยนำพยานเข้าสืบก่อน และนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 14 กรกฎาคม 2531 เวลา 9 นาฬิกา แม้จำเลยไม่ได้มาศาลในวันชี้สองสถานก็ถือว่าจำเลยได้ทราบกระบวนพิจารณาของศาลในวันนั้นแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา183 วรรคสอง (เดิม) ดังนั้น เมื่อศาลกำหนดวันเวลานัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 14 กรกฎาคม 2531 เวลา 9 นาฬิกา จึงต้องถือว่าจำเลยทราบวันเวลานัดสืบพยานจำเลยแล้ว เมื่อจำเลยไม่มาศาลในวันดังกล่าว โดยมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลเสียก่อนลงลายมือสืบพยาน จำเลยจึงขาดนัดพิจารณาโดยจงใจ ข้อที่จำเลยอ้างว่าทนายจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริต จะนำมาเป็นข้ออ้างว่าจำเลยไม่จงใจขาดนัดหาได้ไม่เพราะทนายจำเลยเป็นตัวแทนของจำเลยเอง ทนายจำเลยทราบวันนัดโดยชอบแล้ว และศาลชั้นต้นก็ได้มีคำสั่งยกคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ไปแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา 205 วรรคสาม (3)
ฎีกาจำเลยที่ว่า สัญญาซื้อขายที่พิพาทบังคับไม่ได้เพราะสามีจำเลยมิได้ให้ความยินยอม และโจทก์ฟ้องจำเลยขอให้โอนที่พิพาทตามสัญญาจะซื้อขายซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนโดยไม่ได้ขอชำระราคาที่ดินด้วยเป็นการไม่ชอบ การที่ศาลพิพากษาให้โจทก์ใช้ราคาที่ดินแก่จำเลยจึงเกินคำขอนั้น เห็นว่าสัญญาจะซื้อขายทำที่บ้านจำเลยการต่อรองราคาที่ดินก็ทำต่อหน้าพันตรีถาวรสามีจำเลย เหตุที่ไม่ได้ให้สามีให้ความยินยอมในการซื้อขายเนื่องจากจำเลยบอกว่าจำเลยและสามีมิได้จดทะเบียนสมรสกันประกอบกับสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) ก็มีชื่อจำเลยคือนางนิตยาเพียงผู้เดียวทั้งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ก็ยังระบุชื่อจำเลยว่าน.ส.นิตยา สงวนจิตร จึงมีเหตุผลให้โจทก์เชื่อว่าจำเลยมิได้จดทะเบียนสมรสกับสามี นอกจากนี้ในวันทำสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทสามีจำเลยก็อยู่ด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวจึงมีเหตุผลให้โจทก์เชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับสามีจึงได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทกับจำเลย สัญญาดังกล่าวจึงผูกพันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 และแม้โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้โอนที่พิพาทตามสัญญาจะซื้อขายซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนโดยโจทก์ไม่ได้ขอชำระราคาที่ดินตอบแทนด้วยก็ไม่เป็นเหตุให้ฟ้องโจทก์ไม่ชอบเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องโอนที่พิพาทให้โจทก์ ศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยโอนที่พิพาทให้โจทก์โดยมีเงื่อนไขให้โจทก์ชำระราคาที่ระบุไว้ในสัญญาได้ เพราะเป็นเรื่องการชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทน หาได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอไม่
จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ระบุพยานเพิ่มเติม2 ครั้ง หลังจากที่สั่งจำเลยขาดนัดพิจารณาเท่ากับหมดพยานจำเลยแล้วและรับฟังพยานโจทก์ดังกล่าวในเรื่องค่าเสียหายเป็นการไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การพิจารณาโดยขาดนัดเป็นการพิจารณาคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียว ไม่มีการสืบพยานหลักฐานของจำเลยซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่มีหน้าที่นำสืบก่อน กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 88 วรรคหนึ่ง (เดิม) โจทก์จึงมีสิทธิระบุพยานเพิ่มเติมได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ระบุพยานเพิ่มเติมภายหลังที่ศาลชั้นต้นสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาและรับฟังพยานโจทก์ดังกล่าว จึงหาเป็นการไม่ชอบไม่
พิพากษายืน