คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 587/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือที่จำเลยที่3มีถึงโจทก์ไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุว่าจำเลยที่3ปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยแต่อย่างใดถือได้ว่าจำเลยที่3ยอมรับตามสิทธิของโจทก์ในฐานะผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยที่1ได้ทำไว้แก่จำเลยที่3และยอมรับที่จะจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนรายนี้แก่โจทก์แล้วแต่ขอเวลาอีก60วันเพื่อการรวบรวมหลักฐานให้ครบถ้วนจะได้ประมวลข้อเท็จจริงทั้งหมดซึ่งเป็นเรื่องดำเนินการตามขั้นตอนทางปฏิบัติของบริษัทจำเลยที่3เท่านั้นการกระทำของจำเลยที่3เป็นการกระทำอันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์แล้วอายุความย่อมสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา139/14เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้วระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใดให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้นตามมาตรา193/15หนังสือที่จำเลยที่3มีถึงโจทก์ลงวันที่25มีนาคม2533เมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่23สิงหาคม2534ยังไม่เกินสองปีคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่3จึงยังไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา882

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2532 จำเลยที่ 1เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขเครื่อง ทีดี 25-เอส 14038 จากโจทก์ในราคา 360,000 บาท ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อรวม 48 เดือนเดือนละ 7,500 บาท เดือนแรกชำระวันที่ 22 กรกฎาคม 2532เดือนต่อไปทุกวันที่ 22 ของเดือนโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากนั้นปรากฏว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไป จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยรถยนต์ดังกล่าวจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชดใช้ราคารถยนต์แก่โจทก์โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 360,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 360,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยไม่มีส่วนได้เสียในรถยนต์ที่เอาประกันภัยในขณะทำสัญญาประกันภัยรถยนต์โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเกิน 2 ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัย คดีจึงขาดอายุความ จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ อย่างไรก็ดี ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ตามสัญญาประกันภัยมีไม่เกิน 250,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน360,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3เคยมีหนังสือถึงโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งมีข้อความว่า”บริษัทฯ (จำเลยที่ 3) ได้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อไปเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2532และต่อมารถยนต์คันดังกล่าวได้สูญหายไปในเขตท้องที่สถานีตำรวจภูธรประตูน้ำจุฬาลงกรณ์เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2532 ดังความละเอียดซึ่งโจทก์ในฐานะผู้รับประโยชน์คงทราบดีอยู่แล้วนั้น บริษัทฯขอเรียนให้ทราบว่า บริษัทฯ มิได้นิ่งนอนใจเรื่องการติดตามรถหายรายนี้แต่อย่างใด จากการสอบสวนของบริษัทฯ ในขณะนี้ได้ผลคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งอาจที่จะสามารถสืบถังตัวบุคคลที่กระทำความผิดในครั้งนี้ได้ด้วย บัดนี้ บริษัทฯ ได้รับหลักฐานต่าง ๆ เกือบจะครบถ้วนแล้ว แต่ยังมีความจำเป็นบางประการในการสอบสวนของบริษัทฯ ร่วมกับพนักงานสอบสวน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขอระยะเวลาสอบสวนเพิ่มเติมอีกระยะหนึ่งเป็นเวลาประมาณ 60 วัน เพื่อที่จะได้ประมวลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องรถยนต์หายรายนี้ให้ชัดแจ้งก่อนพิจารณาจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนรายนี้ต่อไป” เห็นว่า หนังสือที่จำเลยที่ 3 มีถึงโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.7 ไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุว่าจำเลยที่ 3ปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยแต่อย่างใด ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ยอมรับตามสิทธิของโจทก์ในฐานะผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยที่ 1 ได้ทำไว้แก่จำเลยที่ 3และยอมรับที่จะจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนรายนี้แก่โจทก์แล้วแต่ขอเวลาอีก 60 วัน เพื่อการรวบรวมหลักฐานให้ครบถ้วนจะได้ประมวลข้อเท็จจริงทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องดำเนินการตามขั้นตอนทางปฏิบัติของบริษัทจำเลยที่ 3 เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 3เป็นการกระทำอันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์แล้ว อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 139/14 เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้นตามมาตรา 193/15 หนังสือตามเอกสารหมาย จ.7 ที่จำเลยที่ 3 มีถึงโจทก์ลงวันที่ 25 มีนาคม 2533เมื่อนับถึงวันฟ้อง คือวันที่ 23 สิงหาคม 2534 ยังไม่เกินสองปีคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 จึงยังไม่ขาดอายุความ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ 3 ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใดนั้น เห็นว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยที่ 1 ได้ทำไว้แก่จำเลยที่ 3 โดยโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์เอกสารหมาย จ.6 ได้กำหนดให้ความคุ้มครองเฉพาะการลักทรัพย์ตามสัญญาข้อ 3.1 จำกัดความรับผิดเป็นจำนวนเงิน 250,000 บาทจำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ในจำนวนเงิน250,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1และที่ 2 ต่อโจทก์ในจำนวนเงิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2534จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share