คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2402/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในวันเกิดเหตุผู้เสียหายทำธนบัตรของกลางตกที่หน้าแผงลอยของนางสาว พ. ขณะที่ล้วงกระเป๋าหยิบเงินมาชำระค่าปลาหมึกให้แก่นางสาว พ. จำเลยที่ 1 มาพบก้มลงหยิบธนบัตรดังกล่าวไปหลังจากที่จำเลยที่ 1 เดินจากไปแล้ว ผู้เสียหายจึงรู้ตัวว่าธนบัตรของกลางหายไป สอบถามนางสาว พ. ได้ความว่า จำเลยที่ 1 เก็บเอาไป ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 เอาธนบัตรของกลางไปในขณะที่ผู้เสียหายยังยืนอยู่ในบริเวณที่ทำธนบัตรตก และในเวลาใกล้เคียงกันนั้นเอง ผู้เสียหายก็รู้ทันทีว่าธนบัตรของตนหายไป ถือได้ว่านับแต่เวลาที่ธนบัตรของกลางหล่นลงไปที่พื้น จนถึงเวลาที่จำเลยที่ 1 หยิบเอาไป ผู้เสียหายยังคงยึดถือธนบัตรนั้นอยู่ การครอบครองธนบัตรยังอยู่กับผู้เสียหาย เมื่อจำเลยที่ 1 เอาธนบัตรของกลางไปจากความครอบครองของผู้เสียหายเพื่อจะเอาไปเป็นของตนเอง จึงมีความผิดฐานลักทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันลักธนบัตรฉบับละ ๕๐๐ บาท ๑ ฉบับ ฉบับละ ๑๐๐ บาท ๓ ฉบับ ของพลตำรวจสำรองพิเศษสุริยา ศิริพันธะ ผู้เสียหายไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๓๓๔, ๓๓๕ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่๕) พ.ศ. ๒๕๒๕ มาตรา ๑๑
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้น พิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔ จำคุก ๑ ปี จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๕๗ วรรคหนึ่ง จำคุก ๘ เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ และพยานหลักฐานโจทก์ไม่พอฟังลงโทษจำเลยที่ ๒ ฐานรับของโจร พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ วรรคสอง จำคุก ๓ เดือน ยกฟ้องจำเลยที่ ๒
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในวันเกิดเหตุ ผู้เสียหายทำธนบัตรจำนวน ๘๐๐ บาท ตกที่หน้าแผงลอยของนางสาวพิศมัย ชอบเพชร ขณะที่ล้วงกระเป๋าหยิบเงินมาชำระให้แก่นางสาวพิศมัย จำเลยที่ ๑ มาพบก้มลงหยิบธนบัตรจำนวนดังกล่าวไป หลังจากที่จำเลยที่ ๑ เดินจากไปแล้ว ผู้เสียหายจึงรู้ตัวว่าธนบัตรจำนวน ๘๐๐ บาทหายไป สอบถามนางสาวพิศมัยได้ความว่า จำเลยที่ ๑ เก็บเอาไป เห็นว่า จำเลยที่ ๑ เอาธนบัตรของกลางไปในขณะที่ผู้เสียหายยังยืนอยู่ในบริเวณที่ทำธนบัตรตก ในเวลาใกล้เคียงกันนั้น ผู้เสียหายก็รู้ทันทีว่าธนบัตรของตนหายไปและได้สอบถามนางสาวพิศมัยในขณะนั้น จึงถือได้ว่านับแต่เวลาที่ธนบัตรของกลางหล่นลงไปที่พื้น จนถึงเวลาที่จำเลยที่ ๑ หยิบเอาไป ผู้เสียหายยังคงยึดถือธนบัตรนั้นอยู่การครอบครองธนบัตรยังอยู่กับผู้เสียหาย เมื่อจำเลยที่ ๑ เอาธนบัตรของกลางไปจากการครอบครองของผู้เสียหายเพื่อจะเอาไปเป็นของตนเอง จำเลยที่ ๑ จึงมีความผิดฐานลักทรัพย์
ส่วนคดีเกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ นั้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๒ ได้รับธนบัตรของกลางไว้จากจำเลยที่ ๑ โดยรู้อยู่ว่าธนบัตรของกลางเป็นของที่จำเลยที่ ๑ เก็บได้ การที่จำเลยที่ ๒ ปกปิดซ่อนเร้นไว้จึงเป็นความผิดฐานรับของโจรแต่จำเลยทั้งสองรับสารภาพตามข้อหาในฟ้องโจทก์มาแต่ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนโดยจำเลยที่ ๑ ให้การมีข้อเท็จจริงเข้าลักษณะความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยที่ ๒ ให้การมีข้อเท็จจริงเข้าลักษณะความผิดฐานรับของโจร มีประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษสมควรลดโทษให้แก่จำเลยทั้งสอง สำหรับจำเลยที่ ๒ นั้น เป็นหญิงอายุเพียง ๑๘ ปี และเป็นบุตรจำเลยที่ ๑ รับธนบัตรของกลางจากมารดาและถูกกำชับให้ปกปิดมิได้ให้ผู้ใดทราบเรื่องที่เกิดขึ้น เมื่อถูกสอบถามเกี่ยวกับธนบัตรของกลางในเวลากระชั้นชิดกับเวลาที่มารดานำมามอบให้ ย่อมไม่มีเวลาไตร่ตรองโดยรอบคอบ คงยึดถือคำสั่งมารดาเป็นที่ตั้ง ในภาวะเช่นนั้นเป็นที่น่าเห็นใจ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ เคยต้องโทษหรือต้องหาคดีอาญาใด ๆ มาก่อน เห็นเป็นการสมควรที่จะให้โอกาสจำเลยที่ ๒ กลับตัวประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไปสักครั้ง
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดและให้ลงโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อลดโทษให้จำเลยทั้งสองคนละ ๑ ใน ๓ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ ๑ ไว้ ๘ เดือนจำคุกจำเลยที่ ๒ ไว้ ๕ เดือน ๑๐ วัน แต่ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ ไว้ ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖

Share