คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2401/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ยึดแขนหญิงและนั่งเบียดหญิงในรถ ระหว่างพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร เป็นการกระทำปกติธรรมดาในการควบคุมมิให้หนี ไม่มีลักษณะเป็นการทำอนาจารตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา278

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารและทำอนาจาร จำคุก 10 ปี จำเลยที่ 2 จำคุก 1 ปี 10 เดือน 15 วัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284, 278, 46, 76, 78 จำเลยที่ 3 จำคุก 4 ปี8 เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284, 278, 335, 78, 86 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ จำคุกจำเลยที่ 1 1 ปี 10 เดือน 15 วัน จำเลยที่ 2 จำคุก 8 เดือนตามมาตรา 284, 75, 78 จำเลยที่ 3 จำคุก 1 ปี 9 เดือน 10 วัน ตาม มาตรา 284,335, 76, 78 ยกข้อหาจำเลยที่ 2, 3 ฐานทำอนาจาร โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่โจทก์กล่าวมาในฎีกาว่า ในระหว่างทางที่จำเลยทั้งสามกับพวกหลบหนี (คงหมายถึงในขณะจำเลยทั้งสามกับพวกพาผู้เสียหายไป) จำเลยกับพวกได้เปลี่ยนกันเข้ายึดแขนผู้เสียหาย และในระหว่างควบคุมตัวผู้เสียหายไปบนรถ จำเลยกับพวกได้พยายามนั่งเบียดผู้เสียหายมาตลอดทาง แสดงว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 มีเจตนากระทำอนาจารผู้เสียหายนั้นเห็นว่าการกระทำต่าง ๆ ดังที่โจทก์กล่าวมาเป็นเพียงการกระทำตามปกติธรรมดาในการควบคุมผู้เสียหายมิให้หลบหนีเท่านั้นเอง หามีลักษณะเป็นการกระทำอนาจารผู้เสียหายไม่ ดังปรากฏในคำเบิกความของผู้เสียหายว่าระหว่างเดินทางไม่มีผู้ใดลวนลามผู้เสียหายเลย คงมีแต่จำเลยที่ 1 คนเดียวเท่านั้นที่แสดงความรักและลวนลามผู้เสียหาย จึงฟังว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้กระทำอนาจารผู้เสียหายในขณะพากันเดินทางไม่ได้ ที่โจทก์กล่าวว่าการที่จำเลยที่ 2 ที่ 3คอยอยู่นอกห้องที่จำเลยที่ 1 อยู่ตามลำพังกับผู้เสียหายเป็นการอยู่ในลักษณะคุมเชิงมิให้ผู้เสียหายหลบหนี เป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 มีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดเช่นนั้นด้วย เห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2ที่ 3 ได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1ในการทำอนาจารผู้เสียหายแต่ประการใด จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงไม่มีความผิดในการที่จำเลยที่ 1 กระทำอนาจารผู้เสียหายในตอนนี้เช่นกัน คดีจึงลงโทษจำเลยที่ 2ที่ 3 ในข้อหานี้ไม่ได้”

พิพากษายืน

Share