แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลในการพิจารณาคดีนั้นจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ก็ต่อเมื่อความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี เมื่อคำฟ้องโจทก์มิได้กล่าวว่าความเท็จตามที่จำเลยเบิกความนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ทั้งตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์เมื่ออ่านโดยตลอดแล้วก็ยังไม่เป็นที่เข้าใจได้อยู่ในตัวว่าความเท็จตามที่จำเลยเบิกความ มีความสำคัญเช่นนั้น ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบของความผิด ตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า (1) เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2521 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญากล่าวหาว่าโจทก์ออกเช็คธนาคารนครหลวงไทยจำกัด หมายเลข 272856 ลงวันที่ 5 กันยายน 2520 สั่งจ่ายเงิน 50,000 บาท เพื่อชำระหนี้ให้จำเลย เมื่อจำเลยนำเช็คไปขึ้นเงิน ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยแจ้งว่าบัญชีของโจทก์ปิดแล้ว ขอให้ลงโทษโจทก์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ปรากฏตามสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 902/2521 หมายเลขแดงที่ 2851/2522 ซึ่งเป็นความเท็จและจำเลยรู้อยู่ว่าโจทก์มิได้กระทำความผิดตามฟ้อง กล่าวคือ จำเลยรู้อยู่ว่า โจทก์ออกเช็คดังกล่าวเพื่อแลกกับเช็คเก่าที่โจทก์ออกให้จำเลยไว้ ซึ่งจำเลยนำไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนพร้อมกับยอมความเลิกคดี ซึ่งจำเลยตกลงจะถอนคำร้องทุกข์ แต่แล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในการยอมความดังกล่าว กลับยืนยันต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีที่ร้องทุกข์ไว้นั้นต่อไปต่อมาโจทก์ถูกฟ้องเป็นคดีอาญา ซึ่งในเมื่อจำเลยตกลงใจที่จะหวนกลับไปใช้สิทธิในคดีเดิม จำเลยย่อมไม่มีฐานะเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทอันจะทำให้จำเลยมีสิทธินำเช็คใหม่ที่พิพาทไปขึ้นเงินแล้วนำมาฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญา ฟ้องโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นฟ้องเท็จ (2) ในชั้นพิจารณา เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2521 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ได้บังอาจเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลอาญาว่า เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2520 โจทก์ได้ติดต่อขอซื้อไก่จากจำเลยที่ 1 ที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา และได้ตกลงซื้อไก่กันเป็นจำนวนเงิน 50,000 บาทเศษ ครั้นถึงเดือนสิงหาคม 2520 โจทก์ได้มาคิดบัญชีค่าซื้อไก่กับจำเลยที่ 1 แล้วโจทก์ได้ออกเช็คชำระค่าไก่ให้จำเลยที่ 1 เป็นเช็คธนาคารนครหลวงไทย จำกัด ลงวันที่ 5 กันยายน 2521 จำนวนเงิน 50,000 บาท ส่วนเศษจาก 50,000 บาทนั้นชำระเป็นเงินสด จำเลยที่ 2 เป็นสามีของจำเลยที่ 1 รู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการออกเช็คฉบับพิพาทดังกล่าวดี ยังบังอาจเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2521 เวลากลางวัน ด้วยข้อความที่สอดคล้องกับคำฟ้องและคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ข้อความที่จำเลยทั้งสองเบิกความนั้นเป็นความเท็จทั้งสิ้น กล่าวคือโจทก์มิได้ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อไก่ แต่ออกเช็คเพื่อยอมความเลิกคดีอาญาตามเช็คฉบับเก่าของโจทก์ที่อยู่กับจำเลย แล้วจำเลยบิดพลิ้วไม่ยอมถอนคำร้องทุกข์เกี่ยวกับเช็คฉบับเก่าตามฟ้องข้อ (1) จำเลยทั้งสองรู้ดีอยู่แล้ว ว่า ข้อความที่เบิกความเป็นพยานต่อศาลนั้นเป็นความเท็จ เหตุเกิดที่ศาลอาญา แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 177 วรรคสอง, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคำฟ้องที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์นั้น ไม่เป็นความเท็จและไม่มีมูลเป็นความผิดทางอาญา ส่วนคำเบิกความของจำเลยทั้งสองนั้นถ้าไม่เป็นความจริง ก็ไม่ใช่ข้อสำคัญในคดีไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
คดีมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะข้อหาฐานเบิกความเท็จซึ่งศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาไว้เท่านั้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลในการพิจารณาคดีนั้นจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ก็ต่อเมื่อความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี แต่คำฟ้องคดีนี้โจทก์มิได้กล่าวว่าความเท็จตามที่จำเลยเบิกความนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี และตามคำบรรยายฟ้องดังกล่าวข้างต้นนั้น เมื่ออ่านโดยตลอดแล้วก็ยังไม่เป็นที่เข้าใจได้อยู่ในตัวว่าความเท็จตามที่จำเลยเบิกความมีความสำคัญเช่นนั้น ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบของความผิดตามบทกฎหมายที่ขอให้ลงโทษจำเลย
พิพากษายืน