คำสั่งคำร้องที่ 267/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่ารับอุทธรณ์ข้อ 5 ของจำเลย สำหรับอุทธรณ์ข้ออื่น เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 จึงไม่รับอุทธรณ์
จำเลยทั้งสองเห็นว่า อุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย เนื่องจากจำเลยอุทธรณ์ ว่าศาลชั้นต้นพิพากษาคดีขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยทั้งสอง ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปด้วย
หมายเหตุ ทนายโจทก์แถลงคัดค้าน (อันดับ 96)
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกัน ชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 50,000 บาท เงินโบนัสจำนวน 120,000 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดประจำปี จำนวน 1,666 บาท เงินค่าตั๋วเครื่องบินเดินทางขากลับ จำนวน 28,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้าง ไม่เป็นธรรมจำนวน 150,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (10 กุมภาพันธ์ 2535) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสอง ร่วมกันชำระค่าชดเชยจำนวน 150,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้าง (15 ตุลาคม 2534) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ฯลฯ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับอุทธรณ์ข้อ 5 สำหรับอุทธรณ์ข้ออื่นไม่รับ (อันดับ 80)
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 84)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อ 3 เป็นอุทธรณ์ที่พอแปลความได้ว่า ตามฟ้องจำเลยทั้งสอง มีหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างส่งถึงโจทก์วันที่ 23 ตุลาคม 2534 และให้มีผลเป็นการเลิกจ้างโจทก์วันที่ 30 พฤศจิกายน 2534 ซึ่งตามฟ้องดังกล่าว โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าว ล่วงหน้า จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลย ทั้งสองข้อ 4 เป็นอุทธรณ์การแปลความหมายของสัญญา ระหว่างโจทก์จำเลย จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อ 6 เป็นการอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลาง พิจารณาพิพากษาคดีไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหา ข้อกฎหมาย ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อ 7 นั้น ปรากฏว่า ฟ้องของโจทก์บรรยายถึงความเสียหายว่าถ้าไม่เลิกจ้าง โจทก์จะได้ทำงานในปี 2535 โจทก์ต้องออกจากงานที่ ประเทศอิตาลีเพื่อมาทำงานกับจำเลย โจทก์ขาดประโยชน์จากค่าเช่าบ้าน ในชั้นสืบพยานโจทก์เบิกความว่าเสียหาย 300,000 บาท เห็นได้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงความเสียหาย ของโจทก์และนำสืบถึงความเสียหายดังกล่าวแล้วศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหาย ที่โจทก์ควรจะได้รับจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามหลักเกณฑ์ ในมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและ วิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ดังที่ปรากฏใน คำพิพากษาศาลแรงงานกลาง อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ที่ศาลแรงงานกลางไม่รับอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสอง นั้นชอบแล้ว ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 6 ไว้พิจารณาต่อไป

Share