แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยทำคำขอเปิดบัญชีเดินสะพัดกับโจทก์แบบไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดจึงใช้บังคับได้จนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาหรือมีการหักทอนบัญชีและเรียกให้ชำระหนี้ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือ โดยจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรืออัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดและให้คิดดอกเบี้ยทบต้นตามวิธีและประเพณีของธนาคาร มี ช. ทำสัญญาจำนำสิทธิการรับฝากเงินที่ฝากไว้แก่โจทก์เป็นประกันหนี้ดังกล่าว ปรากฏว่าหลังวันที่ 30 เมษายน จำเลยขอเพิ่มวงเงินจากโจทก์ แต่โจทก์ไม่ยินยอม วันที่ 2 กันยายน จำเลยจึงแจ้งให้โจทก์นำเงินฝากและดอกเบี้ยของ ช. ที่ประกันหนี้ไว้มาชำระหนี้แก่โจทก์ แสดงว่า หลังวันที่ 30 เมษายน จำเลยยังประสงค์จะกู้เบิกเงินเกินบัญชีและเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ต่อไป จึงมิได้แจ้งให้โจทก์นำเงินฝากของ ช. มาหักทอนบัญชี แต่เพิ่งแจ้งเมื่อวันที่ 2 กันยายน ทั้งที่จำเลยเคยเป็นพนักงานสินเชื่อของธนาคารมาก่อนย่อมต้องทราบดีถึงการคิดดอกเบี้ยของธนาคารตามสัญญาดังกล่าว สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงสิ้นสุดในวันที่ 2 กันยายนซึ่งเป็นวันหักทอนบัญชี โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันที่ 2 กันยายน ดังนั้น การที่โจทก์มิได้นำเงินฝากของ ช. มาหักทอนบัญชีเสียก่อนที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงจึงหาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่
สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นสัญญาลักษณะพิเศษที่กฎหมายใช้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะคำนวณดอกเบี้ยทบต้นเอาแก่ลูกหนี้ได้ แต่หลังจากที่สัญญาเลิกกันแล้วสิทธิในการคำนวณดอกเบี้ยทบต้นย่อมหมดไป คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้จึงเป็นการผิดนัดที่เกิดขึ้นหลังจากเลิกสัญญา โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นในอัตราที่ตกลงกันไว้ในสัญญาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าดอกเบี้ยภายหลังสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงถือเป็นเบี้ยปรับซึ่งศาลมีอำนาจลดลงได้และเมื่อโจทก์มิได้แสดงอัตราดอกเบี้ยที่คิดแก่จำเลยหลังสัญญาสิ้นสุดให้ชัดเจนจึงกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนั้น เป็นข้อวินิจฉัยที่ไม่ต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาที่สูงกว่าได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกค้ากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามบัญชีเดินสะพัดของธนาคารโจทก์สาขางามวงศ์วาน โดยออกเช็คสั่งจ่ายเงินครั้งสุดท้าย 47,800 บาท เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2538 ขณะเป็นหนี้อยู่แก่โจทก์ 1,999,903.82 บาท หลังจากนั้นจำเลยฝากเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้หลายครั้งแต่ไม่ครบถ้วน โจทก์จึงบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้และเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2541 จำเลยชำระหนี้อีก10,000 บาท ในวันที่ 27 มกราคม 2541 แล้วเพิกเฉย เมื่อคำนวณถึงวันที่ 10 สิงหาคม2541 จำเลยยังเป็นหนี้โจทก์ 208,979.37 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้จำนวน208,979.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปี จากต้นเงิน 188,967.04 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาเปิดบัญชีเดินสะพัดกันตามฟ้องโดยโจทก์ตกลงให้จำเลยกู้เบิกเงินเกินบัญชี 2,000,000 บาท และคิดดอกเบี้ยจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดกับเงินฝากประจำบัญชีเลขที่ 319-1-02314-7 จำนวน 2,000,000 บาท ที่จำเลยนำมาเป็นประกันอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2538 จำเลยเป็นหนี้โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 2,014,724.56 บาท จำเลยจึงขอเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี โจทก์ปฏิเสธจำเลยจึงบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัด นับแต่นั้นไปโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยอีก แทนที่โจทก์จะนำเงินฝากประจำ 2,000,000 บาทมาหักทอนบัญชีชำระหนี้ที่จำเลยค้างอยู่แก่โจทก์ทันที โจทก์กลับใช้สิทธิโดยไม่สุจริตทอดเวลาออกไปจนถึงวันที่ 2 กันยายน2540 จึงหักทอนบัญชีกันทำให้จำเลยเสียเปรียบ และแม้ต่อมาวันที่ 19 มีนาคม 2541 จำเลยชำระหนี้เพิ่มอีก 5,000 บาท โจทก์ก็ไม่นำไปหักทอนบัญชี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 441,761.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 กันยายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยให้นำเงิน250,000 บาท มาหักหนี้ในวันที่ 4 กันยายน 2540 ในส่วนดอกเบี้ยและต้นเงินตามลำดับจากนั้นให้นำเงิน 10,000 บาท มาหักหนี้ในวันที่ 7 มกราคม 2541 คราวหนึ่ง และหักหนี้ในวันที่ 27 เดือนเดียวกันอีกคราวหนึ่ง สุดท้ายให้นำเงิน 50,000 บาท มาหักหนี้ในวันที่19 มิถุนายน 2541 ตามลำดับด้วยวิธีการเดียวกันนั้น เมื่อคงเหลือจำนวนสุทธิเท่าใด ให้ถือเป็นต้นเงินที่จะคำนวณดอกเบี้ยตามอัตราข้างต้นต่อไป
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้โต้เถียงกันชั้นฎีกาว่าเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2534 จำเลยทำคำขอเปิดบัญชีเดินสะพัดกับโจทก์สาขางามวงศ์วาน ตกลงว่าจะนำเงินเข้าบัญชีและสั่งจ่ายเช็คของโจทก์ที่มอบให้ไว้เพื่อถอนเงินจากบัญชี ถ้าเหลือเงินในบัญชีไม่พอจ่ายหรือเกินวงเงิน หากโจทก์ผ่อนผันจ่ายเงินตามเช็คเกินวงเงินในบัญชีไป จำเลยยอมผูกพันที่จะจ่ายเงินส่วนที่โจทก์ผ่อนผันจ่ายไปนั้นคืนโจทก์ เสมือนว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ตามบัญชีเดินสะพัดและหรือเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีต่อโจทก์และยินยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรืออัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด โดยคิดดอกเบี้ยทบต้นตามวิธีและประเพณีของธนาคาร นายชัยวัล อัศวศิริสุข ทำสัญญาจำนำสิทธิการรับฝากเงินจำนวน 2,000,000 บาท ตามสมุดเงินฝากประจำเลขที่ 319-1-02314-7 ที่ฝากเงินไว้แก่โจทก์เป็นประกันหนี้ดังกล่าวของจำเลย นับแต่เปิดบัญชีจำเลยเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์เรื่อยมา จนกระทั่งวันที่ 2 กันยายน 2540 จำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวน 2,839,846.09 บาท โจทก์จึงโอนเงินฝากประจำของนายชัยวัลจำนวน 2,398,084.42 บาทมาชำระหนี้ของจำเลยเพื่อหักทอนบัญชีตามรายละเอียดวงเงินเบิกเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.6
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลงเมื่อใด เห็นว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.4 ไม่มีกำหนดสิ้นสุด จึงใช้บังคับได้จนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาหรือมีการหักทอนบัญชีและเรียกให้ชำระหนี้ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือ ซึ่งตามรายละเอียดวงเงินเบิกเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.6 และคำเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านของนายณัฐวุฒ รอดอ่อน พยานโจทก์ได้ความว่า เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2540 โจทก์โอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของนายชัยวัลจำนวน 2,398,084.42 บาท มาชำระหนี้ของจำเลยเพื่อหักทอนบัญชีเดินสะพัด ตรงตามที่จำเลยเบิกความรับว่าวันที่ 2 กันยายน 2540จำเลยแจ้งให้โจทก์นำเงินฝากและดอกเบี้ยของนายชัยวัลที่ประกันหนี้ของจำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ เมื่อหักทอนบัญชีกันแล้วจำเลยยังคงเป็นหนี้โจทก์อยู่อีกจำนวนหนึ่ง หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าโจทก์ยอมให้จำเลยเบิกเงินเกินบัญชีอีก พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าคู่สัญญาประสงค์ให้สัญญาบัญชีเดินสะพัดอันเป็นสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีด้วยสิ้นสุดลงในวันที่ 2 กันยายน 2540 นั่นเอง โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยได้ถึงวันที่ 2 กันยายน 2540 ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยถอนเงินจากบัญชีเดินสะพัดครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2538 ย่อมถือว่าวันที่ 30 เมษายน 2538 เป็นวันหักทอนบัญชีครั้งสุดท้าย โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ถึงวันที่ 30 เมษายน 2538 เท่านั้น เห็นว่า จำเลยเบิกความว่า ภายหลังวันที่ 30 เมษายน 2538 จำเลยติดต่อโจทก์เพื่อขอเพิ่มวงเงินโดยเพิ่มหลักทรัพย์ค้ำประกันด้วย แต่โจทก์ไม่ยินยอม วันที่ 2 กันยายน 2540 จำเลยจึงแจ้งให้โจทก์นำเงินฝากและดอกเบี้ยของนายชัยวัลที่ประกันหนี้ของจำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์แสดงให้เห็นว่าภายหลังวันที่ 30 เมษายน 2538 แล้วจำเลยยังประสงค์จะกู้เบิกเงินเกินบัญชีและเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ต่อไป จึงมิได้แจ้งให้โจทก์นำเงินฝากของนายชัยวัลที่ประกันหนี้ไว้มาหักทอนบัญชีแต่เพิ่งแจ้งให้โจทก์นำเงินฝากดังกล่าวมาหักทอนบัญชีเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2540 ทั้งที่จำเลยเคยเป็นพนักงานสินเชื่อของธนาคารมาก่อนย่อมทราบดีถึงเรื่องการคิดดอกเบี้ยของธนาคารตามสัญญากู้เงินเบิกเกินบัญชีและสัญญาบัญชีเดินสะพัด สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงสิ้นสุดลงในวันหักทอนบัญชีดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจนถึงวันที่ 2 กันยายน2540 ดังนั้น การที่โจทก์มิได้นำเงินฝากและดอกเบี้ยของนายชัยวัลมาหักทอนบัญชีเสียก่อนสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลง จึงหาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตดังที่จำเลยฎีกาไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า การที่ศาลกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยภายหลังสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นสัญญาลักษณะพิเศษที่กฎหมายให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ในอันที่จะคำนวณดอกเบี้ยทบต้นเอาแก่ลูกหนี้ได้ หลังจากสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันแล้ว สิทธิในการคำนวณดอกเบี้ยทบต้นของเจ้าหนี้ย่อมหมดไป คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องชำระหนี้เงินที่เบิกเกินบัญชีอยู่แก่โจทก์ การที่จำเลยไม่ชำระหนี้จึงเป็นการผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากการเลิกสัญญาโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นในอัตราตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าดอกเบี้ยภายหลังสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงถือเป็นเบี้ยปรับที่โจทก์เรียกเอาจากจำเลยผู้ผิดสัญญา ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลอาจปรับลดลงได้ เมื่อโจทก์มิได้แสดงอัตราดอกเบี้ยที่คิดแก่จำเลยหลังสัญญาสิ้นสุดลงไว้ชัดเจนจึงกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนั้น ข้อวินิจฉัยดังกล่าวไม่ต้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาที่สูงกว่าได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน