คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2396/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยด่าโจทก์และมารดาโจทก์ว่ามารดาโจทก์เป็นคนดอกทองและโจทก์เป็นลูกคนดอกทอง มารดาโจทก์จะชักชวนให้โจทก์ไปเป็นคนดอกทอง ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493ได้นิยามคำว่า ‘ดอกทอง’ ไว้ว่า หมายถึงหญิงใจง่ายในทางประเวณี คำด่าดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการด่ามารดาโจทก์เป็นหญิงใจง่าย ในทางประเวณีและมารดาโจทก์จะชักชวนให้โจทก์ไปเป็นหญิงใจง่าย ในทางประเวณี อันเป็นการหมิ่นประมาทมารดาโจทก์อย่างร้ายแรงตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1500(2) โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยได้
ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1518 บัญญัติว่าในระหว่างสามีภริยาให้แบ่งความรับผิดในหนี้ที่จะต้องรับผิดด้วยกัน ตามส่วนที่จะได้สินสมรสนั้น เป็นเพียงบทบัญญัติยกเว้นของ มาตรา 296 ที่ให้ลูกหนี้ร่วมแต่ละคนจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นเท่านั้น ส่วนการที่จะให้สามีภริยารับผิดในหนี้ร่วมต่อกันตามมาตรา 1518 นั้น จะต้องรับผิดต่อเมื่อสามีหรือภริยาได้ชำระหนี้ร่วมให้แก่เจ้าหนี้ไปแล้ว หากฝ่ายที่ ชำระหนี้ร่วมให้แก่เจ้าหนี้ไปเกินส่วนที่ตนได้สินสมรสไปเท่าใด ก็มีสิทธิเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งชดใช้ ให้ มิใช่ว่าเมื่อมีหนี้ร่วม หากสามีหรือภริยาฟ้องหย่าและขอแบ่งสินสมรส ถ้ามีเหตุหย่า และต้องแบ่งสินสมรสแล้วจะต้องหักหนี้ร่วมออกจากสินสมรส ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเก็บรักษาไว้เพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนจึงจะ แบ่งสินสมรสส่วนที่เหลือกัน จำเลยจะขอหักหนี้ดังกล่าวออกเพื่อ จำเลยจะนำไปชำระให้แก่เจ้าหนี้ก่อนแล้วจึงแบ่งสินสมรสกันไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายต่อมาจำเลยไปได้นางวงศ์เป็นภริยาอีกคนหนึ่ง และหาเหตุทะเลาะทำร้ายร่างกายโจทก์ ด่าประจานก้าวร้าวและหมิ่นประมาทโจทก์และบุพการีโจทก์อย่างร้ายแรงด้วยถ้อยคำหยาบคายต่าง ๆ นา ๆ เช่น”ลูกอีดอกทอง แม่มึงดอกทองแล้ว มึงจะดอกทองเหมือนแม่มึงใช่ไหม กูสงสัยว่าแม่มึงไปเอาสัตว์เดรัจฉานมา มึงถึงได้เงี่ยนจัด” และขับไล่โจทก์ โดยขู่ว่า ถ้าโจทก์ไม่ยอมออกไปจากบ้านจำเลยจะฆ่าโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันและบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามบัญชีท้ายฟ้องกึ่งหนึ่งทุกอันดับ

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยประพฤตินอกใจไปได้นางวงศ์เป็นภริยาอีกคนหนึ่ง และไม่เคยหาเหตุทะเลาะทำร้ายร่างกายโจทก์หรือด่าประจานอันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์และบุพการีโจทก์เลย จำเลยเคยทำร้ายร่างกายโจทก์ครั้งหนึ่งแต่ไม่ถึงบาดเจ็บอันจะเป็นเหตุฟ้องหย่า ทั้งไม่ได้พูดขับไล่โจทก์และขู่จะฆ่าโจทก์การแบ่งทรัพย์สินจะต้องเอาสินสมรสทั้งหมดมาแบ่งโดยหักใช้หนี้สินร่วมกันเสียก่อนแล้วจึงนำสินสมรสที่เหลือคืนสินเดิมของจำเลย ส่วนที่เหลือต้องแบ่งเป็น 3 ส่วนโจทก์ได้รับหนึ่งส่วนและจำเลยได้รับสองส่วน

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันและให้แบ่งสินสมรสตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยด่าโจทก์และมารดาโจทก์ว่า มารดาโจทก์เป็นคนดอกทองและโจทก์เป็นลูกคนดอกทอง มารดาโจทก์จะชักชวนให้โจทก์ไปเป็นคนดอกทอง ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 ได้นิยามคำว่า ดอกทอง ไว้ว่า หมายถึงหญิงใจง่ายในทางประเวณีคำด่าดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการด่าว่ามารดาโจทก์เป็นหญิงใจง่ายในทางประเวณี และมารดาโจทก์จะชักชวนให้โจทก์ไปเป็นหญิงใจง่ายในทางประเวณี อันเป็นการหมิ่นประมาทมารดาโจทก์ซึ่งเป็นบุพการีของโจทก์อย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชยมาตรา 1500(2)

ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1518 บัญญัติว่า ในระหว่างสามีภริยาให้แบ่งความรับผิดในหนี้ที่จะต้องรับผิดด้วยกันตามส่วนที่จะได้สินสมรสนั้นเป็นเพียงบทบัญญัติยกเว้นของมาตรา 296 ที่ให้ลูกหนี้ร่วมแต่ละคนจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นเท่านั้น ส่วนการที่จะให้สามีภริยารับผิดในหนี้ร่วมต่อกันตามมาตรา 1518 นั้น จะต้องรับผิดต่อเมื่อสามีหรือภริยาได้ชำระหนี้ร่วมให้แก่เจ้าหนี้ไปแล้ว หากฝ่ายที่ชำระหนี้ร่วมให้แก่เจ้าหนี้ไปเกินส่วนที่ตนได้สินสมรสไปเท่าใด ก็มีสิทธิเรียกร้องอีกฝ่ายหนึ่งชดใช้ให้ มิใช่ว่าเมื่อมีหนี้ร่วม หากสามีหรือภริยาฟ้องหย่าและขอแบ่งสินสมรสแล้ว ถ้ามีเหตุหย่าและจะต้องแบ่งสินสมรสกันแล้วจะต้องหักหนี้ร่วมออกจากสินสมรสให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเก็บรักษาไว้เพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนแล้วจึงจะแบ่งสินสมรสส่วนที่เหลือกัน จำเลยจะขอหักหนี้ดังกล่าวออกเพื่อจำเลยจะนำไปชำระให้แก่เจ้าหนี้ก่อนแล้ว จึงแบ่งสินสมรสกันไม่ได้ พิพากษายืน

Share