คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2393/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนคดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ตรี ซึ่งในกรณีนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ไม่ได้ให้อำนาจ ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ขอให้ศาลรอการลงโทษ หรือรอการกำหนดโทษจำเลยที่ 1 นั้นเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง การอนุญาตให้ฎีกาของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบ อย่างไรก็ตามเมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณา ของศาลฎีกาแล้ว และศาลฎีกาเห็นว่าพฤติการณ์ที่ปรากฏในคดี โทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดยังไม่เหมาะสมแก่รูปคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจเปลี่ยนแปลงดุลพินิจในการลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดไว้ได้ เมื่อขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 อายุ 20 ปี เคยเข้าศึกษาระดับวิทยาลัย ปัจจุบันมีการงาน เป็นหลักแหล่งมั่นคง ความผิดที่จำเลยที่ 1 กระทำมิใช่ อาชญากรรมที่เป็นความผิดร้ายแรง จำเลยที่ 1 ไม่เคย ต้องโทษจำคุกมาก่อน หากให้โอกาสจำเลยที่ 1 กลับตัวเป็น พลเมืองดีโดยการรอการลงโทษจำคุกให้จะได้รับผลดีกว่าการที่จะ ลงโทษกักขังแทนโดยจำคุก แต่เพื่อให้จำเลยที่ 1 หลาบ จำ และปรามมิให้จำเลยที่ 1 กระทำผิดในลักษณะนี้อีก จึงเห็นควร ลงโทษปรับด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 138 วรรคสอง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 83 จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 เดือน จำเลยทั้งสองรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือนเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนคนละ 1 เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 23
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ไม่ได้ให้อำนาจผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ขอให้ศาลรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษจำเลยที่ 1 นั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงการอนุญาตให้ฎีกาของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบอย่างไรก็ตาม เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว และศาลฎีกาเห็นว่าพฤติการณ์ที่ปรากฏในคดีโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดยังไม่เหมาะสมแก่รูปคดีศาลฎีกาย่อมมีอำนาจเปลี่ยนแปลงดุลพินิจในการลงโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดไว้ได้ ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 อายุ 20 ปี เคยเข้าศึกษาระดับวิทยาลัย ปัจจุบันมีการงานเป็นหลักแหล่งมั่นคงความผิดที่จำเลยที่ 1 กระทำมิใช่อาชญากรรมที่เป็นความผิดร้ายแรงจำเลยที่ 1 ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน หากให้โอกาสจำเลยที่ 1กลับตัวเป็นพลเมืองดีโดยการรอการลงโทษจำคุกให้จะได้รับผลดีกว่าการที่จะลงโทษกักขังแทนโดยจำคุกที่ศาลล่างทั้งสองไม่รอการลงโทษให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่เพื่อให้จำเลยที่ 1 หลายจำและปรามมิให้จำเลยที่ 1 กระทำผิดในลักษณะนี้อีกเห็นควรลงโทษปรับด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 4,000 บาทอีกสถานหนึ่งลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งแล้วคงปรับ 2,000 บาท ไม่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขัง และให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share