แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 35 โจทก์อาจยื่นคำฟ้องเป็นหนังสือ หรือแถลงข้อหาด้วยวาจาต่อหน้าศาลก็ได้ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยด้วยวาจาต่อศาลแรงงานกลางโดยอ้างสภาพแห่งข้อหาว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายและเงินอื่น ๆกับให้ยกเลิกคำสั่งของจำเลยที่เลิกจ้างโจทก์ ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า การเลิกจ้างของจำเลยเป็นการเลิกจ้างเป็นธรรม คดีถึงที่สุดแล้วโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยอีกโดยกล่าวอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ และมีคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินประเภทต่าง ๆ กับขอให้เพิกถอนคำสั่งฉบับเดียวกัน และสั่งให้โจทก์เข้าทำงานตามเดิม หรือให้ชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งแม้โจทก์จะอ้างว่าเป็นการละเมิด ก็เป็นเรื่องที่เกิดจากการเลิกจ้างของจำเลยอันเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่ จึงเป็นฟ้องซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานฐานผิดวินัยอย่างร้ายแรง เนื่องจากโจทก์จดทะเบียนสมรสซ้อน โจทก์ได้ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางตามคดีหมายเลขแดงที่ 4931/2528 คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาว่า กรณีไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน เหตุที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานจึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เป็นการจงใจทำละเมิดเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับค่าเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ย และขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ พ.1/นท.1/8147/2527 ลงวันที่27 พฤศจิกายน 2527 แล้วให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานต่อไป หรือมิฉะนั้นให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์จดทะเบียนสมรสซ้อน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จึงเป็นการเลิกจ้างเป็นธรรม ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ โจทก์มิได้รับความเสียหายขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ พิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “เห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาที่ว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ 4830/2528 หมายเลขแดงที่ 4931/2528 ของศาลแรงงานกลางหรือไม่โจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 แล้วก็ย่อมนำบทบัญญัติในเรื่องพ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับตามที่จะเห็นสมควรเท่านั้น ซึ่งศาลจะนำมาใช้บังคับกับคดีนี้มิได้ เพราะคดีเดิมโจทก์ไม่ได้ฟ้องต่อศาลเอง หากแต่โจทก์ไปแถลงข้อหาต่อศาลแรงงานกลางเท่านั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 35บัญญัติว่าโจทก์อาจยื่นคำฟ้องเป็นหนังสือหรือแถลงข้อหาด้วยวาจาต่อหน้าศาลก็ได้ซึ่งมีความหมายว่าในการฟ้องคดีต่อศาลแรงงานนั้นโจทก์จะยื่นคำฟ้องเป็นหนังสือก็ได้ หรือหากไม่ประสงค์เช่นนั้นโจทก์จะฟ้องคดีด้วยวาจาก็ได้ ฉะนั้นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางตามคดีหมายเลขดำที่ 4830/2528 หมายเลขแดงที่ 4931/2528 จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะว่าโจทก์ได้อ้างสภาพแห่งข้อหาว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย ค่าทำงานในวันหยุด ค่าชดเชย ค่าเบี้ยเลี้ยงนอกสถานที่ค่าเบี้ยเลี้ยงหลักกิโลเมตร เงินสงเคราะห์รายเดือน ใบเบิกทางเชิงบำเหน็จ ค่าแรงงานนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันเกษียณอายุกับให้ยกเลิกคำสั่งของจำเลยที่ พ.1/นท.1/6555/2527 และคำสั่งเลขที่พ.1/นท.1/8147/2527 ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าการเลิกจ้างของจำเลยเป็นการเลิกจ้างเป็นธรรมแล้วคดีถึงที่สุด สำหรับสภาพแห่งข้อหาของโจทก์คดีนี้ โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์และมีคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คือ เงินเดือนค่าครองชีพและค่าสงเคราะห์บุตรนับแต่วันเลิกจ้างถึงวันฟ้องค่าเสียหายจากการที่มิได้ทำงานกับจำเลยจนเกษียณอายุ ค่าจ้างสำหรับวันหยุดประจำปี เบี้ยเลี้ยง ค่าเสียหายจากการแพร่ข่าวการเลิกจ้างกับขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ พ.1/นท.1/8147/2527 แล้วสั่งให้โจทก์เข้าทำงานตามเดิมหรือให้ชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งแม้โจทก์จะอ้างว่าเป็นการละเมิดซึ่งจำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ก็ดีก็เป็นเรื่องที่เกิดจากการเลิกจ้างของจำเลย เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งโจทก์ได้เคยฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางตามคดีดังกล่าว และศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยในประเด็นนี้เป็นที่ยุติมาแล้วกรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของจำเลยได้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ 4830/2528 หมายเลขแดงที่ 4931/2528 จึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน