คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2389/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หลักฐานที่เจ้ามรดกทำถึงผู้จัดการธนาคารขอเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงชื่อบัญชีและตัวอย่างลายมือชื่อในบัญชีที่เจ้ามรดกฝากเงินไว้จาก ส.เป็น ส.หรือจำเลยที่ 2 ซึ่งหมายความว่า คนใดคนหนึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการเบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวได้สำหรับบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์และสำหรับบัญชีเงินฝากประเภทประจำ และในทางปฏิบัติผู้ที่มีอำนาจในการเบิกเงินจากบัญชีได้จะเป็นเจ้าของบัญชีร่วมกัน และตามเอกสารซึ่งเป็นคำสั่งและสัญญาของผู้ฝากเงินที่เจ้ามรดกและจำเลยที่ 2 ได้เปิดบัญชีร่วมกันมีข้อความระบุว่า ตามที่ ส.กับจำเลยที่ 2 ได้เปิดบัญชีร่วมกันมีบัญชีเงินฝากประจำ ออมทรัพย์ กระแสรายวันและอื่น ๆ ไว้กับธนาคาร ข้าพเจ้าได้ตกลงกับธนาคารในการเบิกจ่ายเงินข้าพเจ้าทั้งสองคนหรือคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ลงนามขอถอนเงิน ขอรับเงินหรือสั่งจ่ายเงินโดยใช้คำว่า ส.หรือจำเลยที่ 2 นั้น ข้าพเจ้าขอให้คำสั่งและสัญญาต่อธนาคารว่าถ้าข้าพเจ้าคนใดคนหนึ่งถึงแก่กรรม ขอยกเงินฝากส่วนของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ฝากที่ยังมีชีวิตอยู่ และให้ผู้ที่มีชีวิตอยู่มีสิทธิที่จะฝาก ถอน หรือติดต่อกับธนาคารได้ต่อไปจึงฟังได้ว่าการที่เจ้ามรดกใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของบัญชีร่วมกับเจ้ามรดกนั้นมีเจตนาให้จำเลยที่ 2 ร่วมเป็นเจ้าของเงินของเจ้ามรดกที่มีในบัญชีนั้น ๆ ด้วยแต่เนื่องจากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้ามรดกต้องการให้จำเลยที่ 2 มีส่วนเป็นเจ้าของร่วมเป็นจำนวนเท่าใด จึงต้องสันนิษฐานว่าเจ้ามรดกและจำเลยที่ 2มีส่วนเป็นเจ้าของเงินในบัญชีคนละครึ่ง
ข้อความตามที่ปรากฏในคำสั่งและสัญญาของผู้ฝากเงินทั้งเจ้ามรดกและจำเลยที่ 2 ต่างแจ้งเจตนาต่อธนาคารว่า ต่างประสงค์จะยกเงินฝากในส่วนของแต่ละคนให้อีกฝ่ายหนึ่งถ้าตนถึงแก่กรรมก่อนอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของแต่ละคน จึงมีต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน และพยานทั้งสองคนนั้นลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น จึงเป็นพินัยกรรมที่ทำถูกต้องตามแบบในป.พ.พ.มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง ย่อมมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย หากเจ้ามรดกถึงแก่กรรม เงินสดตามบัญชีเงินฝากในส่วนของเจ้ามรดกย่อมตกได้แก่จำเลยที่ 2แต่ต่อมาเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมฉบับพิพาทขึ้นอีกฉบับหนึ่ง ตามเอกสารหมาย จ.6ยกทรัพย์สมบัติที่เป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาท แก่โจทก์ โดยให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินสดจากบัญชีของเจ้ามรดกเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้ว จึงเห็นได้ว่าพินัยกรรมฉบับแรกดังกล่าวขัดกับพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.6 ในข้อที่ว่า จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ได้รับเงินในบัญชีเงินฝากส่วนที่เป็นมรดกของเจ้ามรดกทั้งหมด หรือจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกจะต้องแบ่งเงินในบัญชีดังกล่าวส่วนที่เป็นมรดกของเจ้ามรดกแก่โจทก์เป็นจำนวน 1,000,000 บาท ตามพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6ซึ่งทำขึ้นภายหลัง จึงต้องถือว่าพินัยกรรมฉบับแรกเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.6 ในส่วนที่มีข้อความขัดกัน คือเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับเงินจำนวน 1,000,000 บาท ที่จะต้องตกได้แก่โจทก์เท่านั้น ตาม ป.พ.พ.มาตรา1697 จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส.เจ้ามรดกต้องแบ่งมรดกของเจ้ามรดกเป็นเงินสดจากบัญชีเงินฝากแก่โจทก์ จำนวน 1,000,000 บาท

Share