คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2387/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หลานในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นโจทก์ฟ้องยายในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นจำเลยได้มิใช่คดีอุทลุมเพราะโจทก์มิได้ฟ้องในฐานะส่วนตัวของโจทก์และในฐานะส่วนตัวของจำเลยแม้สัญญาจะขายที่ดินตามฟ้องมิได้ระบุว่ายายทำในฐานะผู้จัดการมรดกก็ตาม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาและผู้จัดการมรดกของนายไพจิตรสุทธิสัมพัทน์ จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของหม่อมเจ้าอธิพรพงศ์ เกษมศรีเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2522 นายไพจิตรทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 267 ตำบลบ้านพานถม อำเภอพระนคร กรุงเทพมหานคร จากจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของหม่อมเจ้าอธิพรพงศ์ในราคา 300,000 บาท วางมัดจำไว้ 100,000 บาท ที่เหลือผ่อนชำระใน 4 ปี ต่อมานายไพจิตรชำระเป็นเงินสดอีก 50,000 บาท คงค้างอยู่เป็นเงินน 150,000 บาท หลังจากนายไพจิตรถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์ในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกขอให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวพร้อมกับรับชำระค่าที่ดินที่ค้างจำเลยขอผัดผ่อน โจทก์มีหนังสือกำหนดวันนัดให้จำเลยโอนทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวและรับเงินค่าที่ดินที่ค้าง จำเลยไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่โจทก์พร้อมกับรับเงินค่าที่ดินที่ค้าง หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า ได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินตามฟ้องโดยมิได้รับความยินยอมจากบุตรของหม่อมเจ้าอธิพรพงศ์ซึ่งมีสิทธิในที่ดินดังกล่าวด้วย สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ สัญญาดังกล่าวมีเงื่อนไขว่า ผู้จะซื้อยินยอมให้ผู้จะขายอยู่ในที่ดินดังกล่าว และไม่กระทำสิ่งใดให้กระทบกระเทือนจิตใจผู้จะขาย แต่ผู้จะซื้อมีเจตนาขับไล่จำเลยไม่ให้ความสะดวกในการที่จำเลยจะใช้ประตูบ้านโจทก์เป็นทางเข้าออก และแสดงกิริยาไม่เคารพจำเลย เป็นการผิดเงื่อนไขในสัญญาค่าที่ดินบางส่วนนายไพจิตรสั่งจ่ายเป็นเช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้โจทก์จึงเป็นผู้ผิดสัญญา โจทก์นัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์โดยมิได้ระบุวันเวลาสถานที่ จำเลยจึงมิได้ผิดนัดขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์รับเงินค่าซื้อที่ดิน 150,000 บาทไปจากจำเลย
ก่อนชี้สองสถานหม่อมราชวงศ์เขมัสศิริ เกษมศรี กับหม่อมราชวงศ์หญิงธีรตาร์ เกษมศรี บุตรของหม่อมเจ้าอธิพรพงศ์ เกษมศรี ร้องสอดขอเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องให้โจทก์ พร้อมกับรับชำระเงินที่ค้าง หากจำเลยไม่ไปโอนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยและจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของหม่อมเจ้าอธิพรพงศ์และเป็นยายของโจทก์ และวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์เป็นหลานจำเลย โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นส่วนตัว เป็นคดีอุทลุมโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าตามคำฟ้องโจทก์บรรยายว่า โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายไพจิตร สุทธิสัมพัทน์ ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของหม่อมเจ้าอธิพรพงศ์ เกษมศรี เป็นจำเลย ซึ่งจำเลยก็ให้การว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของหม่อมเจ้าอธิพรพงศ์ เกษมศรีได้ทำสัญญาจะขายที่ดินตามฟ้องแก่นายไพจิตร ดังนี้ เห็นได้ว่าโจทก์หาได้ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวของโจทก์และในฐานะส่วนตัวของจำเลยไม่แม้สัญญาจะขายที่ดินตามฟ้องมิได้ระบุว่าจำเลยทำในฐานะผู้จัดการมรดกก็หาทำให้ฟ้องดังกล่าวเป็นฟ้องในฐานะส่วนตัวจำเลยไม่ คดีที่โจทก์ฟ้องจึงมิใช่คดีอุทลุม โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยได้”
พิพากษายืน.

Share