คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2385/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อปรากฏว่าบริษัทผู้จำหน่ายรถยนต์ต้องส่งบัญชีรับและจำหน่ายรถให้แก่นายทะเบียนกรุงเทพมหานครเมื่อได้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายหรือผลิตหรือประกอบรถขึ้นใหม่เพื่อจำหน่าย โดยต้องจัดส่งเอกสารประกอบหนังสือแจ้ง คือ บัญชีรับและจำหน่ายรถใบเสร็จรับเงินอากรขาเข้า ใบรับรองการนำเข้า สำเนาใบขนสินค้าขาเข้า บัญชีแสดงรายการสินค้าหรืออินวอยซ์ ทั้งต้องจัดส่งบัญชีรับและจำหน่ายรถของแต่ละเดือนให้นายทะเบียนกรุงเทพมหานครทราบ แสดงว่าหลักฐานต่างๆ ดังกล่าวมีอยู่ที่นายทะเบียนกรุงเทพมหานครครบถ้วนแล้ว เมื่อมีผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนรถใหม่จึงสามารถตรวจสอบได้ทันทีว่าหลักฐานของผู้ยื่นคำขอตรงกับที่บริษัทผู้จำหน่ายรถยนต์แจ้งมาหรือไม่ การที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกขั้นตอนรวมทั้งจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายทะเบียนมิได้ตรวจสอบทั้งที่ปรากฏข้อพิรุธของเอกสารอย่างชัดเจน จึงถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ เมื่อมีการออกใบคู่มือจดทะเบียนให้แก่จำเลยที่ 5 ทำให้โจทก์ทั้งสองหลงเชื่อเอกสารดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ว่าเป็นเอกสารที่ออกโดยถูกต้องจึงตกลงซื้อรถยนต์คันพิพาท เมื่อมีการตรวจพบในภายหลังว่าเอกสารที่จำเลยที่ 5 นำไปยื่นต่อนายทะเบียนเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 2 จึงมีประกาศยกเลิกการจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทและแจ้งให้โจทก์ที่ 2 ส่งใบคู่มือจดทะเบียนและแผ่นป้ายทะเบียนรถคืนแก่นายทะเบียน จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายไม่ได้ใช้รถยนต์คันพิพาททั้งที่ชำระเงินค่ารถไปครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในผลแห่งละเมิดที่เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่
คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยทั้งหกร่วมกันคืนเงินค่ารถยนต์จำนวน 1,350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายที่ไม่ได้ใช้รถยนต์ ต้องเสียค่าเช่ารถเดือนละ 20,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสอง คำขออื่นให้ยก โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ชดใช้เงินค่ารถจำนวน 1,350,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสองเท่านั้น เท่ากับโจทก์ทั้งสองไม่ติดใจในส่วนของค่าเสียหายที่ต้องเสียค่าเช่ารถมาใช้แทนรถยนต์คันพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในความเสียหายส่วนนี้จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสอง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 ประกอบ มาตรา 246 แม้ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยมาก็ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
โจทก์ทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมมือหรือรู้เห็นเป็นใจกับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ในการรับจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทโดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าเอกสารหลักฐานประกอบคำขอจดทะเบียนรถใหม่เป็นเอกสารปลอม ตามพฤติการณ์เป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย แต่โดยเหตุที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในมูลหนี้ละเมิดอันเนื่องมาจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อ ส่วนจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองตามมูลหนี้สัญญาซื้อขาย แม้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองจำนวนเดียวกันแต่ก็ไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ทั้งสองเต็มจำนวนได้ เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ในการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 แล้ว เห็นว่าเป็นความประมาทเลินเล่อซึ่งมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในหน่วยงานของรัฐ ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในเอกสารต่างๆที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย ทำให้ประชาชนได้รับความเสียหาย เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ในการกระทำและความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้วเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,410,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,350,000 บาท นับจากวันฟ้องและร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 5 มิถุนายน 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท และให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้เป็นพับ คำขออื่นของโจทก์ทั้งสองนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 รับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองที่ไม่ได้ใช้รถยนต์คันพิพาทที่ถูกเพิกถอนการจดทะเบียนนับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไปเป็นเงินเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งสอง เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามจำนวนที่โจทก์ทั้งสองชนะคดีจำเลยที่ 1 ในชั้นอุทธรณ์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 4,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ทั้งสองร่วมกันซื้อรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ในราคา 1,350,000 บาท ได้จดทะเบียนโอนจากจำเลยที่ 5 เป็นชื่อโจทก์ที่ 2 ต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 โจทก์ทั้งสองชำระเงินค่ารถให้แก่จำเลยที่ 4 และได้รับใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทตาม ต่อมาจำเลยที่ 2 ประกาศยกเลิกการจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทและมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ที่ 2 ส่งมอบใบคู่มือจดทะเบียนและแผ่นป้ายทะเบียนรถคืนภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2541 เนื่องจากตรวจพบว่าเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ประกอบคำขอจดทะเบียนรถใหม่ที่จำเลยที่ 5 ยื่นต่อจำเลยที่ 3 เป็นเอกสารปลอม โดยจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 นำรถยนต์คันพิพาทที่ได้รับการจดทะเบียนโดยมิชอบไปหลอกลวงขายให้แก่โจทก์ทั้งสอง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในเบื้องแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ทั้งสองและนายรุ่งโรจน์ พยานโจทก์ว่า ก่อนที่จะทำการจดทะเบียนโอนรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 5 เป็นชื่อโจทก์ที่ 2 นั้น โจทก์ที่ 1 ได้ตรวจดูใบคู่มือจดทะเบียน และได้ให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบเอกสารดังกล่าวแล้วได้รับคำยืนยันว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้อง สามารถจดทะเบียนโอนกันได้โดยชอบ จึงได้ทำการจดทะเบียนโอนรถยนต์คันพิพาทกันและโจทก์ทั้งสองได้ชำระเงินค่ารถให้แก่จำเลยที่ 4 ไปครบถ้วนในวันจดทะเบียนโอนนั้นเอง แต่ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ประกาศยกเลิกการจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาท และมีหนังสือเรียกให้โจทก์ที่ 2 ส่งมอบใบคู่มือจดทะเบียนและแผ่นป้ายทะเบียนรถคืนเนื่องจากตรวจสอบพบว่าเอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนรถใหม่เป็นเอกสารปลอมซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ออกเอกสารของรถยนต์คันพิพาทมิได้ตรวจสอบเอกสารให้รอบคอบ จึงออกใบคู่มือจดทะเบียนให้แก่จำเลยที่ 5 โดยประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายเพราะได้ชำระราคารถยนต์คันพิพาทไปครบถ้วนแล้ว เมื่อถูกเพิกถอนการจดทะเบียนโจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจใช้รถยนต์คันพิพาทได้ ส่วนจำเลยที่ 3 เบิกความว่า จำเลยที่ 5 มอบอำนาจให้ นายวีระเดช เป็นผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนรถใหม่พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบคำขอ จำเลยที่ 3 ได้ตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆ ตามขั้นตอนแล้วเห็นว่ามีหลักฐานครบถ้วน และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในแต่ละขั้นตอนได้ลงลายมือชื่อรับรองไว้ถูกต้อง จึงจดทะเบียนรถให้แก่จำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 3 ไม่มีหน้าที่ตรวจสอบรายละเอียดของเอกสารต่าง ๆ ว่าถูกต้องหรือไม่เพราะในแต่ละวันต้องรับจดทะเบียนรถประมาณ 800 ราย ทำให้ไม่มีเวลาที่จะตรวจสอบความถูกต้องได้ ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตรวจพบว่าเอกสารหลักฐานประกอบคำขอจดทะเบียนรถใหม่สำหรับรถยนต์คันพิพาทที่จำเลยที่ 5 ยื่นต่อจำเลยที่ 3 เป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 2 จึงเพิกถอนการจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาท เห็นว่า จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งนายทะเบียนซึ่งมีหน้าที่รับจดทะเบียนรถใหม่และรถย้ายเข้าจากต่างจังหวัด จำเลยที่ 3 จึงมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนรถในแต่ละขั้นตอนตามสายงานที่กำหนดไว้ให้เป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อยเพราะจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ต้องลงนามในฐานะนายทะเบียน ไม่อาจปัดความรับผิดชอบได้ จำเลยที่ 3 เบิกความว่ากรณีที่มีผู้นำรถใหม่มายื่นขอจดทะเบียน จะต้องใช้แบบคำขอจดทะเบียนของจำเลยที่ 1 ที่ได้จัดทำไว้พร้อมด้วยหลักฐานต่าง ๆ คือ หนังสือรับรองการส่งบัญชีและแจ้งจำหน่ายบัญชีรถ หนังสือแจ้งจำหน่าย หลักฐานการได้มา เช่น ใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษี หลักฐานบัตรประจำตัวของเจ้าของรถ ผู้ยื่นคำขอต้องนำรถมาตรวจสภาพกับนายช่างของจำเลยที่ 1 ก่อน จากนั้นจึงไปขอออกทะเบียนรถที่ฝ่ายบริหารงานทั่วไปแล้วไปขอหมายเลขทะเบียนรถและใบรับรองหลักฐานการส่งบัญชีที่ฝ่ายควบคุมรถและเครื่องยนต์ จากนั้นให้ฝ่ายทะเบียนทำการตรวจสอบและคิดค่าภาษีให้ผู้ยื่นคำขอเสียภาษี เสร็จแล้วจึงดำเนินการจดทะเบียนให้ ศาลฎีกาตรวจดูเอกสารแบบคำขอจดทะเบียนรถใหม่ของรถยนต์คันพิพาทพร้อมด้วยเอกสารประกอบคำขอดังกล่าว เห็นว่า มีพิรุธหลายประการซึ่งสามารถเห็นได้โดยง่ายและสามารถตรวจสอบได้ทันที กล่าวคือ ตามแบบคำขอจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทได้มีการยื่นคำขอจดทะเบียนเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 แต่ตามหนังสือมอบอำนาจที่จำเลยที่ 5 มอบอำนาจให้ นายวีระเดชทำการจดทะเบียนรถใหม่กลับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2540 ตามหนังสือแจ้งจำหน่ายและการรับรองหลักฐานการส่งบัญชีรับและจำหน่ายรถยนต์ ซึ่งระบุว่าเป็นของบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด ระบุว่าบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด ได้จำหน่ายรถยนต์คันพิพาทให้แก่จำเลยที่ 5 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2540 แต่ตามใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีกลับระบุว่าได้รับเงินจากจำเลยที่ 5 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2540 และตามเอกสารดังกล่าวยังระบุในหมายเหตุว่าได้ส่งบัญชีรับและจำหน่ายแล้วเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2540 ลำดับที่ 00009 ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ทันทีว่าบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด ได้ส่งบัญชีรับและจำหน่ายรถยนต์คันพิพาทให้แก่นายทะเบียนกรุงเทพมหานครตามที่ระบุไว้ดังกล่าวแล้วจริงหรือไม่ ซึ่งข้อนี้จำเลยที่ 3 เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า ในการแจ้งขอออกทะเบียนรถใหม่ของรถยนต์คันพิพาท เจ้าของเดิมแจ้งว่าซื้อมาจากบริษัทธนบุรีพาณิชย์ลิสซิ่งประกอบรถยนต์ จำกัด ซึ่งบริษัทดังกล่าวจะนำรถยนต์เข้ามากี่คันหรือจะประกอบรถยนต์ใหม่ได้กี่คันก็จะต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ และต้องมีการตัดยอดจำหน่ายบัญชีรถด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเอกสาร ก็จะเห็นได้ว่าบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด ต้องส่งบัญชีรับและจำหน่ายรถให้แก่นายทะเบียนกรุงเทพมหานครเมื่อได้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายหรือผลิตหรือประกอบรถขึ้นใหม่เพื่อจำหน่าย โดยต้องจัดส่งเอกสารประกอบหนังสือแจ้งคือ บัญชีรับและจำหน่ายรถ ใบเสร็จรับเงินอากรขาเข้า ใบรับรองการนำเข้า สำเนาใบขนสินค้าขาเข้า บัญชีแสดงรายการสินค้าหรืออินวอยซ์ ทั้งต้องจัดส่งบัญชีรับและจำหน่ายรถของแต่ละเดือนให้นายทะเบียนกรุงเทพมหานครทราบด้วย แสดงว่าหลักฐานต่าง ๆ ดังกล่าวมีอยู่ที่นายทะเบียนกรุงเทพมหานครครบถ้วนแล้ว เมื่อมีผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนรถใหม่จึงสามารถตรวจสอบได้ทันทีว่าหลักฐานของผู้ยื่นคำขอตรงกับที่บริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด แจ้งมาหรือไม่ การที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกขั้นตอนรวมทั้งจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายทะเบียนมิได้ตรวจสอบทั้งที่ปรากฏข้อพิรุธดังกล่าวอย่างชัดเจนจึงถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ เมื่อมีการออกใบคู่มือจดทะเบียนให้แก่จำเลยที่ 5 ทำให้โจทก์ทั้งสองหลงเชื่อเอกสารดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ว่าเป็นเอกสารที่ออกโดยถูกต้องจึงตกลงซื้อรถยนต์คันพิพาท เมื่อมีการตรวจพบในภายหลังว่าเอกสารที่จำเลยที่ 5 นำไปยื่นต่อนายทะเบียนเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 2 จึงมีประกาศยกเลิกการจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทและแจ้งให้โจทก์ที่ 2 ส่งใบคู่มือจดทะเบียนและแผ่นป้ายทะเบียนรถคืนแก่นายทะเบียน จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายไม่ได้ใช้รถยนต์คันพิพาททั้งที่ชำระเงินค่ารถไปครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในผลแห่งละเมิดที่เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังไม่ขึ้น แต่ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองที่ไม่ได้ใช้รถยนต์คันพิพาทเป็นเงินเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 12 เดือน รวมเป็นเงิน 60,000 บาท นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยทั้งหกร่วมกันคืนเงินค่ารถยนต์จำนวน 1,350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายที่ไม่ได้ใช้รถยนต์ ต้องเสียค่าเช่ารถเดือนละ 20,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ร่วมกันชำระเงิน 1,350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสอง คำขออื่นให้ยก โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ชดใช้เงินค่ารถจำนวน 1,350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสองเท่านั้น เท่ากับโจทก์ทั้งสองไม่ติดใจในส่วนของค่าเสียหายที่ต้องเสียค่าเช่ารถมาใช้แทนรถยนต์คันพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในความเสียหายส่วนนี้จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสอง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ประกอบมาตรา 246 แม้ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยมาก็ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมมือหรือรู้เห็นเป็นใจกับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ในการรับจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทโดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าเอกสารหลักฐานประกอบคำขอจดทะเบียนรถใหม่เป็นเอกสารปลอมตามพฤติการณ์เป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย แต่โดยเหตุที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในมูลหนี้ละเมิดอันเนื่องมาจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อ ส่วนจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองตามมูลหนี้สัญญาซื้อขาย แม้จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองจำนวนเดียวกัน แต่ก็ไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ทั้งสองเต็มจำนวนได้ ส่วนจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดเพียงใดนั้น เป็นกรณีที่ศาลต้องวินิจฉัยให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ในการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 แล้ว เห็นว่า เป็นความประมาทเลินเล่อซึ่งมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในหน่วยงานของรัฐ ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นว่าเอกสารต่าง ๆ ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายนั้นมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องประการใดหรือไม่ อาจถูกสั่งเพิกถอนในภายหลังหรือไม่ และทำให้ประชาชนซึ่งทำนิติกรรมเพราะเชื่อถือต่อหลักฐานที่หน่วยงานของรัฐออกให้ได้รับความเสียหาย เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ในการกระทำและความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ทั้งสองเป็นจำนวนหนึ่งในสามของราคารถยนต์คันพิพาท คิดเป็นจำนวนเงิน 450,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 5 มิถุนายน 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ไม่ชำระ ให้บังคับเอาจากจำเลยที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ทั้งสอง เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดีในชั้นฎีกาต่อจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีการะหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share