แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง และ พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 4 บัญญัติว่า จัดหางาน หมายความว่า ประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานหรือลูกจ้างให้แก่นายจ้างโดยจะเรียกหรือรับค่าบริการหรือไม่ก็ตาม ฉะนั้น ผู้ที่จะมีความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวได้จะต้องเป็นที่ประกอบธุรกิจจัดหางาน แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 แต่โจทก์ก็มีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยกับพวกกระทำการอันเป็นการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจัดหางาน เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยประกอบธุรกิจจัดหางาน ตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30, 82 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2546 มีคนชักชวนผู้เสียหายให้ไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล ลักษณะงานเป็นผู้ช่วยแม่บ้าน เรียกค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 185,000 บาท ผู้เสียหายตกลงจะไปทำงานจึงโอนเงิน 185,000 บาท ให้แก่ผู้ที่มาชักชวน โดยโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารของนายพลวัฒน์ วันที่ 25 มกราคม 2547 ผู้เสียหายเดินทางออกจากประเทศไทยไปประเทศอิสราเอล เมื่อไปถึงมีนายอูลี่ชาวอิสราเอลมารับผู้เสียหายที่สนามบิน ผู้เสียหายไปทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยแม่บ้าน โดยทำสัญญาจ้างกับผู้ว่าจ้างเป็นเวลา 1 ปี แต่ได้รับค่าจ้างน้อยกว่าที่ตกลงกันไว้ ผู้เสียหายจึงออกจากที่ทำงานเดิมแล้วไปหางานใหม่ด้วยตนเองผู้เสียหายทำงานที่ประเทศอิสราเอลได้ประมาณ 9 เดือน ก็ถูกจับกุมแล้วถูกส่งตัวกลับประเทศไทย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่า ขณะที่จำเลยทำงานอยู่ที่ประเทศอิสราเอล จำเลยโทรศัพท์มาชักชวนผู้เสียหายให้ไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลลักษณะงานเป็นผู้ช่วยแม่บ้าน อัตราเงินเดือน 750 ดอลลาร์สหรัฐ โดยเรียกค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 185,000 บาท จำเลยยืนยันว่ามีงานให้ทำและมีรายได้แน่นอน หลังจากนั้นจำเลยให้ผู้เสียหายส่งหนังสือเดินทางและรูปถ่ายไปให้ แล้วจำเลยได้ส่งสัญญาจ้างแรงงานมาให้ผู้เสียหาย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2546 ผู้เสียหายโอนเงินให้แก่จำเลยผ่านบัญชีธนาคารของนายพลวัฒน์ รวม 185,000 บาท จำเลยบอกผู้เสียหายว่าหากเดินทางถึงประเทศอิสราเอลแล้วจะมีคนมารับที่สนามบิน ต่อมาวันที่ 25 มกราคม 2547 ผู้เสียหายเดินทางออกจากประเทศไทยไปยังประเทศอิสราเอล เมื่อไปถึงมีนายอูลี่ชาวอิสราเอลมารับผู้เสียหายที่สนามบินไปส่งที่บ้านจำเลย จำเลยบอกให้ผู้เสียหายฝึกงานกับจำเลยก่อนประมาณ 1 สัปดาห์หลังจากนั้นจะส่งผู้เสียหายไปทำงานกับผู้ว่าจ้าง เมื่อฝึกงานครบแล้วจำเลยพาผู้เสียหายไปทำงานกับผู้ว่าจ้าง ตำแหน่งผู้ช่วยแม่บ้าน โดยทำสัญญาจ้างกับนายจ้างเป็นเวลา 1 ปี ได้รับค่าจ้างเดือนละ 550 ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากทำงานกับผู้ว่าจ้างคนดังกล่าวได้ 4 เดือนผู้เสียหายบอกจำเลยว่าต้องการเปลี่ยนงานเนื่องจากผู้ว่าจ้างนิสัยไม่ดี ชอบลวนลามผู้เสียหายและมีรายได้น้อยกว่าที่จำเลยเคยบอกไว้ จำเลยบอกว่าไม่ขอรับผิดชอบและให้ผู้เสียหายไปติดต่อกับนายพลวัฒน์ซึ่งอาศัยอยู่ที่ประเทศอิสราเอล นายพลวัฒน์บอกให้ผู้เสียหายติดต่อกับนายอูลี่ ที่เป็นคนไปรับผู้เสียหายที่สนามบิน นายอูลี่ยืนยันว่า จะไม่เปลี่ยนงานแต่จะช่วยพูดให้เพิ่มเงินเดือนให้ ผู้ว่าจ้างจึงขึ้นเงินเดือนให้อีก 50 ดอลลาร์สหรัฐผู้เสียหายทำงานได้อีก 2 เดือน และไม่อยากทำงานที่เดิมต่อไป จึงไปปรึกษาสถานทูตไทยที่ประเทศอิสราเอล เจ้าหน้าที่สถานทูตติดต่อนายอูลี่ให้มารับผู้เสียหายออกจากบ้านของนายจ้าง แต่นายอูลี่ไม่มารับและเสนอให้ผู้เสียหายไปทำงานเลี้ยงดูมารดาของนายอูลี่แต่ผู้เสียหายไม่ต้องการ ผู้เสียหายติดต่อไปที่นายพลวัฒน์อีกครั้งว่าผู้เสียหายต้องการหางานเอง นายพลวัฒน์ไม่ขัดข้องเพราะไม่ต้องการรับผิดชอบในตัวผู้เสียหายอีกต่อไปผู้เสียหายจึงโทรศัพท์ไปหาจำเลยแต่จำเลยไม่ยอมรับผิดชอบ ในที่สุดผู้เสียหายก็สามารถหางานด้วยตนเองได้และได้ทำงานที่ใหม่เป็นเวลาประมาณ 3 เดือน จึงถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและส่งตัวผู้เสียหายกลับประเทศไทย ดังนี้ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง และมาตรา 4 บัญญัติว่า จัดหางาน หมายความว่าประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานหรือหาลูกจ้างให้แก่นายจ้างโดยจะเรียกหรือรับค่าบริการตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ฉะนั้น ผู้ที่จะมีความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวได้จะต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจจัดหางาน แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่นางสาวราตรีผู้เสียหาย ซึ่งเป็นคนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ ณ ประเทศอิสราเอล โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางโดยใช้คำที่กฎหมายให้ความหมายไว้โดยเฉพาะ อันเป็นการบรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 ดังที่โจทก์ฎีกา แต่โจทก์ก็มีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยกับพวกกระทำการอันเป็นการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจัดหางาน เช่น ติดต่อกับผู้ว่าจ้างในต่างประเทศหรือตัวแทน หรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศ แต่ทางนำสืบโจทก์กลับปรากฏว่าจำเลยเป็นเพียงผู้พูดชักชวนให้ผู้เสียหายเดินทางไปต่างประเทศ โดยจำเลยไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างใดจากการชักชวนนั้น ทั้งนี้ ผู้เสียหายเบิกความรับว่า ได้โอนเงินค่าใช้จ่ายจำนวน 185,000 บาท เข้าบัญชีธนาคารของนายพลวัฒน์มิใช่จำเลย และเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า คนในหมู่บ้านของผู้เสียหายเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศจำนวนมากเกินกว่า 10 คน และได้ทำงานทุกคน ผู้เสียหายทราบดีว่าการเดินทางไปต้องติดต่อผ่านนายหน้า และนายหน้าจะเป็นผู้ประสานงานให้ได้วีซ่าเพื่อจะได้เดินทางได้ และทราบว่าแต่ละคนที่เดินทางไปทำงานต่างติดต่อผ่านนายพลวัฒน์ จำเลยเดินทางไปทำงานต่างประเทศก่อนหน้าผู้เสียหายเกินกว่า 1 ปี หลังจากผู้เสียหายไม่พอใจนายจ้างคนเดิมและต้องการเปลี่ยนงาน ผู้เสียหายยอมรับว่าได้ไปปรึกษากับจำเลย แต่จำเลยบอกให้ไปหานายพลวัฒน์และนายอูลี่เนื่องจากบุคคลทั้งสองเป็นคนหางานให้โดยตรง คำเบิกความของผู้เสียหายจึงเป็นการชัดแจ้งอยู่ในตัวว่าผู้ที่เป็นนายหน้าจัดหางานให้ผู้เสียหายคือนายพลวัฒน์ เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยรู้จักหรือเกี่ยวข้องกับนายพลวัฒน์อย่างไรประกอบกับเมื่อพิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ตั้งแต่ผู้เสียหายเดินทางไปถึงประเทศอิสราเอลจนผู้เสียหายได้เข้าทำงานนั้น จะเห็นว่าการไปรอรับผู้เสียหายที่สนามบิน ติดต่อหางานให้ผู้เสียหายและเจรจาขอเพิ่มค่าจ้างให้ ตลอดจนการเจรจาเรื่องการเปลี่ยนงานล้วนแล้วแต่กระทำโดยนายอูลี่ทั้งสิ้น จำเลยหาได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยไม่ แม้กระทั่งเมื่อผู้เสียหายต้องการที่จะหางานใหม่ด้วยตนเอง ผู้เสียหายยังได้โทรศัพท์ไปบอกนายพลวัฒน์ว่าต้องการหางานใหม่เองในลักษณะเหมือนการขออนุญาตนายพลวัฒน์เสียก่อน หากจำเลยเป็นผู้ประกอบธุรกิจจัดหางานให้ผู้เสียหายและได้รับผลประโยชน์จากผู้เสียหายโดยตรงแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลใดที่ผู้เสียหายจะต้องบอกนายพลวัฒน์ถึงเรื่องดังกล่าว ลำพังเพียงการที่จำเลยพูดชักชวนผู้เสียหายซึ่งเป็นคนในหมู่บ้านเดียวกัน น่าจะเป็นเพียงการแนะนำในฐานะเครือญาติหรือคนรู้จัก มิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางานตามความหมายแห่งบทบัญญัติ มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลแห่งคดี ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ฎีกาข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน