คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2385/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสี่กับ ช.เป็นบุตรของ ท. ส่วนจำเลยเป็นภริยาของ ช.มีบุตรด้วยกัน 3 คน ช.ได้รับที่พิพาทมาด้วยการยกให้ ต่อมาปี 2520 ช.จดทะเบียนให้จำเลยและบุตรอีก 2 คน เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาท ช.ถึงแก่กรรมเมื่อปี 2521หลังจากนั้นจำเลยเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวโดย ท.ไม่ได้เกี่ยวข้องท.ถึงแก่กรรมเมื่อปี 2531 ต่อมาศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยให้เป็นผู้จัดการมรดก เมื่อปรากฏว่านับแต่วันที่ ช.ถึงแก่กรรมถึงวันที่ ท.ถึงแก่กรรมเป็นเวลา 10 ปีเศษแม้จะไม่ปรากฏว่า ท.ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ช.หรือไม่ แต่การที่ ท.มิได้ฟ้องเรียกมรดกภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ ช.ถึงแก่กรรม ก็ย่อมขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้าย โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีโดยอาศัยสิทธิของ ท. เมื่อสิทธิของ ท.ในการฟ้องเรียกมรดกขาดอายุความแล้ว คดีโจทก์ทั้งสี่ย่อมขาดอายุความด้วย และเมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิในที่พิพาทซึ่งเป็นมรดกของ ท.จึงนำบทบัญญัติในมาตรา 1733 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับไม่ได้

Share