คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2385/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของนาย ท. เจ้ามรดกและมีทายาทคือนาง ท. ซึ่งเป็นมารดา กับจำเลยซึ่งเป็นภริยาของเจ้ามรดก ต่อมานาย ท. ถึงแก่ความตาย ที่ดินอันเป็นมรดกในส่วนที่ตกได้แก่นาง ท. จึงตกแก่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นบุตรของนาง ท.แต่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายท. ได้โอนทรัพย์มรดกเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ดังนี้ เมื่อนายท.ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่29มกราคม2521และนางท.ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2531 แม้จะไม่ปรากฏว่านาง ท.ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของนายท. หรือไม่อันจะฟังว่าขาดอายุความหนึ่งปีตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 วรรคแรกก็ตาม แต่การที่ นาง ท. มิได้ฟ้องเรียกมรดกภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่นาย ท. ถึงแก่ความตายก็ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคท้าย เมื่อโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีโดยอาศัยสิทธิของนาง ท. คดีของโจทก์ทั้งสี่ก็ย่อมขาดอายุความด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 481 และ 482 เป็นสินส่วนตัวของนายเทาต่อมาเมื่อปี 2520 นายเทาได้จดทะเบียนลงชื่อจำเลยนางสาวเชาวณี และนางสาวชฎาพรมีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว นายเทาได้ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2521โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ที่ดินทั้งสองแปลงจึงเป็นมรดกตกแก่ทายาทโดยธรรม ซึ่งได้แก่จำเลยในฐานะภริยากับบุตรทั้งสองและนางทับซึ่งเป็นมารดาของนายเทา เฉพาะนางทับมีสิทธิได้จำนวน 1 ใน 16 ส่วน ต่อมา เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2531 นางทับได้ถึงแก่ความตาย ดังนั้น ที่ดินอันเป็นมรดกในส่วนที่ตกได้แก่นางทับจึงตกแก่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นบุตร เมื่อวันที่ 14กันยายน 2531 จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเทาได้โอนทรัพย์มรดกของนายเทาเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงแก่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา และจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสี่จำนวน 1 ใน 16 ส่วน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนายเทาหรือเชาวน์สามี โดยนางทับมารดาและนางเทียบป้าของนายเทายกให้เป็นสินสมรส เมื่อนายเทาถึงแก่ความตายจนถึงวันที่นางทับถึงแก่ความตายเป็นเวลา 10 ปีเศษ นางทับก็ไม่เคยทวงถามและขอส่วนแบ่งที่ดินทั้งสองแปลงนั้น ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 481 และ 482 ตำบลท่าพลับ อำเภอสนามจันทร์(ปัจจุบันอำเภอบ้านโพธิ์) จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้แก่โจทก์ทั้งสี่จำนวน 1 ใน 25 ส่วน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสี่
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งที่แก้ไขแล้ว ข้อเท็จจริงที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสี่กับนายเทาหรือเชาวน์ เสมอตน เป็นบุตรของนางทับ เสมอตนจำเลยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเทา มีบุตร3 คน คือนางเชาวณี ระรวยทรง นายชฎิล เสมอตน และนางสาวชฎาพร เสมอตนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนางเทียบและนางทับยกให้นายเทาเมื่อปี 2471 ต่อมาเมื่อปี 2520 นายเทาได้จดทะเบียนให้จำเลยกับนางเชาวณีและนางสาวชฎาพรเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง นายเทาถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่29 มกราคม 2521 หลังจากนายเทาถึงแก่ความตาย จำเลยเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกไว้แต่ผู้เดียวโดยนางทับไม่ได้เกี่ยวข้องนางทับถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2531 หลังจากนั้นจำเลยได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายเทาและศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามที่ขอเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2531 ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 519/2531 ของศาลชั้นต้น
ที่โจทก์ทั้งสี่ฎีกาว่า ทายาทมีสิทธิฟ้องเกี่ยวกับการจัดการมรดกได้ภายใน 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2531 โจทก์ฟ้องเรียกมรดกเมื่อวันที่22 กันยายน 2531 จึงไม่ขาดอายุความนั้นพิเคราะห์แล้วประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคแรก บัญญัติว่า”ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายหรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก” และวรรคท้ายบัญญัติว่า “ถึงอย่างไรก็ดีสิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย” คดีนี้นายเทาถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2521 และนางทับถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2531 นับแต่วันที่นายเทาถึงแก่ความตายถึงวันที่นางทับถึงแก่ความตายเป็นเวลา 10 ปีเศษ แม้จะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านางทับได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของนายเทาหรือไม่ อันจะฟังว่าขาดอายุความหนึ่งปีตามมาตรา 1754วรรคแรก ก็ตามแต่การที่ นางทับมิได้ฟ้องเรียกมรดกภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่นายเทาถึงแก่ความตาย ก็ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคท้าย โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยสิทธิของนางทับ เมื่อสิทธิของนางทับในการที่จะฟ้องเรียกมรดกขาดอายุความแล้ว คดีของโจทก์ทั้งสี่ก็ย่อมขาดอายุความด้วยที่โจทก์ทั้งสี่อ้างว่าคดียังไม่ขาดอายุความเพราะยังไม่พ้นเวลา 5 ปีตามมาตรา 1733 วรรคสอง นั้นเห็นว่า มาตรา 1733 วรรคสองบัญญัติว่า “คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้นมิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง” เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของนายเทา จึงจะนำบทบัญญัติในมาตรา 1733 วรรคสอง มาใช้บังคับกับคดีนี้หาได้ไม่”
พิพากษายืน

Share