คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2385-2387/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ร่วมกันขับรถยนต์ปาดหน้ารถยนต์โจทก์ร่วม แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแล้วคุมตัวโจทก์ร่วมไปเจรจาหนี้สินกันโดยบังคับโจทก์ร่วมให้ใช้หนี้แก่จำเลยที่ 7 แทนจำเลยที่ 3 พฤติการณ์เป็นการร่วมกันวางแผนโดยแบ่งหน้าที่กันทำอันเป็นการกระทำความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้จำยอมต่อจำเลยทั้งเจ็ดกับพวก โดยกระทำให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพของผู้อื่น อันเป็นการกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคสอง และหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก
การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ยืนล้อมคุมเชิงโต๊ะเจรจาระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 4 และที่ 7 ไว้ เป็นพฤติการณ์ในเชิงข่มขู่โจทก์ร่วมอยู่ในตัว เพราะก่อนมีการเจรจา โจทก์ร่วมถูกบังคับใส่กุญแจมือมาพบจำเลยที่ 4 และที่ 7 ทั้งจำเลยที่ 4 ยังได้เตรียมแบบพิมพ์สัญญายืมและสัญญาค้ำประกันที่มีการกรอกข้อความว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ยืมสิ่งของจากจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน โจทก์ร่วมซึ่งตกอยู่ในภาวะดังกล่าวจำยอมต้องลงชื่อในสัญญาดังกล่าว ดังนี้ แม้โจทก์ร่วมจะเป็นหนี้จำเลยที่ 3 อยู่ก็ตาม แต่จำเลยทั้งเจ็ดก็ไม่มีสิทธิใช้วิธีการที่ผิดกฎหมายในการบังคับให้โจทก์ร่วมจำยอมต้องชำระหนี้แทนจำเลยที่ 3 จึงเป็นการร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ตนเองได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ทำสัญญายืมสร้อยคอทองคำ ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิจากจำเลยทั้งเจ็ด อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก อีกฐานหนึ่งด้วย แต่การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นการกระทำผิดต่อเนื่องและมีเจตนาเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
หลังจากจำเลยที่ 1 ขับรถปาดหน้ารถยนต์ของโจทก์ร่วมให้หยุดรถ จำเลยที่ 6 ซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้เดินมาที่รถโจทก์ร่วมและบอกโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ว่า เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ แล้วจับโจทก์ร่วมใส่กุญแจมือควบคุมตัวไปพบจำเลยที่ 4 และที่ 7 ถือได้ว่าจำเลยที่ 6 แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ การกระทำของจำเลยที่ 6 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 145 วรรคแรกด้วย แต่เป็นการกระทำต่อเนื่องกันไปโดยมีเจตนาเดียวเพื่อบังคับให้โจทก์ร่วมชำระหนี้ให้จำเลยที่ 7 แทนจำเลยที่ 3 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษจำเลยที่ 6 ตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องทั้งสามสำนวนและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309, 310, 337, 91, 83, 33 และลงโทษจำเลยที่ 6 และที่ 7 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145, 371, 91, 83, 33 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 31,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 และเงินจำนวน 21,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 และริบของกลางรายการที่ 3 ถึงที่ 6 สำหรับจำเลยที่ 5 ให้นับโทษในคดีต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 651/2546 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 5 รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา นายประชุม ผู้เสียหายที่ 1 ในสำนวนแรกและสำนวนที่สาม ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145, 309, 310, 337
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งเจ็ดมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง, 310 วรรคแรก, 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นตัวการร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ให้จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นเพื่อให้ทำเอกสารสิทธิ และฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ลงโทษบทหนัก ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกคนละ 6 ปี สำหรับจำเลยที่ 5 ให้นับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 651/2546 ของศาลชั้นต้น ริบของกลางในรายการที่ 3 ถึงที่ 6 คือ ภาพถ่ายขณะเกิดเหตุ จำนวน 12 ภาพ แผ่นฟิล์ม กล้องถ่ายรูปยี่ห้อยาชิก้าและเอกสารเกี่ยวกับสัญญายืมของ ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งเจ็ดมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง, 310 วรรคแรก, 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 337 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145 วรรคแรก อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 6 มีกำหนด 3 ปี 6 เดือน ข้อหาและคำขออื่นให้ยก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ฎีกา โดยผู้พิพากษา ซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 7 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 7 ย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 39 (1) ศาลฎีกาให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 7 ออกจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 เป็นประจักษ์พยานต่างเบิกความยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะปาดหน้ารถยนต์ของโจทก์ร่วม ทำให้โจทก์ร่วมต้องจอดรถ แล้วมีจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 6 และผู้ชายชื่อจ่าฉอ้อนลงจากรถยนต์กระบะเข้ามาที่รถโจทก์ร่วม โดยจำเลยที่ 6 ร้องบอกเป็นเจ้าพนักงานตำรวจไม่ให้ขัดขืน แล้วจับโจทก์ร่วมใส่กุญแจมือ จากนั้นจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 กับพวกร่วมกันพาตัวโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายที่2 และที่ 3 ไปรอที่ร้านอาหารที่เกิดเหตุ ต่อมามีจำเลยที่ 4 และที่ 7 ตามมาสมทบที่ร้านอาหารดังกล่าว แม้ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน แต่ประจักษ์พยานที่เป็นผู้เสียหายทั้งสามปากถูกกระทำและอยู่ในเหตุการณ์ใกล้ชิดกับจำเลยทั้งเจ็ดเป็นเวลานาน เชื่อว่าเห็นจำเลยทั้งเจ็ดและจำเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะภาพถ่ายที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้จากจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้ถ่ายภาพเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุไว้จริง โดยจำเลยคนอื่น ๆ ไม่ได้นำสืบโต้แย้งภาพถ่ายดังกล่าวว่าไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่อย่างไร แต่จำเลยทั้งเจ็ดกลับนำสืบยอมรับว่า ได้ร่วมกันวางแผนพาตัวโจทก์ร่วมไปตกลงเรื่องหนี้จำเลยที่ 3 แล้วไม่ชำระจริง ซึ่งเหตุการณ์ตามภาพถ่ายสอดคล้องตรงกับคำเบิกความของโจทก์ร่วมที่มีภาพจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 6 และผู้ชายชื่อจ่าฉอ้อนเข้ามายืนประกบรถโจทก์ร่วมและยังปรากฏภาพโจทก์ร่วมยกมือทั้งสองข้างขึ้น เหมือนอยู่ในภาวะถูกบังคับ และมีจำเลยที่ 6 และผู้ชายชื่อจ่าฉอ้อนเอี้ยวตัวเข้าไปในรถโจทก์ร่วม ซึ่งโจทก์ร่วมยืนยันว่าเป็นตอนที่โจทก์ร่วมถูกใส่กุญแจมือ พฤติการณ์การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดที่ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะปาดหน้ารถยนต์ของโจทก์ร่วมให้จอดในเวลากลางคืน เมื่อโจทก์ร่วมจอดรถ จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 6 และจ่าฉอ้อนเข้ามาล้อมรถโจทก์ร่วมไว้ และจำเลยที่ 6 แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจับโจทก์ร่วมใส่กุญแจมือ โดยมีจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 6 ต่างเบิกความไม่เคยรู้จักกับโจทก์ร่วมมาก่อน พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมเป็นการข่มขืนใจและบังคับโจทก์ร่วมให้เกิดความกลัวจะเกิดอันตรายจากคนแปลกหน้าทำให้โจทก์ร่วมจำยอมต่อการกระทำของพวกจำเลย จากนั้นก็พาโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ไปพบจำเลยที่ 4 กับจำเลยที่ 7 ที่ร้านอาหารที่เกิดเหตุอยู่ห่างไปประมาณ 10 กิโลเมตร ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 7 ต่างรู้จักกับโจกท์ร่วมตามเหตุผลหากต้องการเจรจาให้โจทก์ร่วมใช้หนี้จำเลยที่ 7 แทน จำเลยที่ 3 ย่อมนัดหมายเจรจากันได้ โดยไม่ต้องให้พวกไปคุมตัวโจทก์ร่วมมาคุยกันในยามค่ำคืนดึกถึง 22 นาฬิกาเศษ พฤติการณ์และการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเชื่อได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า ได้ร่วมกันวางแผนโดยแบ่งหน้าที่กันทำอันเป็นการกระทำผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้จำเลยทั้งเจ็ดกับพวก โดยกระทำให้เกิดความกลัวจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพของผู้อื่น อันเป็นการกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง และหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 นำสืบปฏิเสธต่อสู้ไม่มีใครบังคับขู่เข็ญโจทก์ร่วม ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์และโจทก์ร่วมได้ นอกจากนี้ขณะโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 นั่งเจรจากับจำเลยที่ 4 และที่ 7 โดยมีจำเลยที่เหลือยืนล้อมรอบคุมเชิงอยู่ จำเลยที่ 7 ได้พูดให้โจทก์ร่วมซึ่งเป็นหนี้จำเลยที่ 3 จำนวน 290,000 บาท ใช้หนี้แทนจำเลยที่ 3 ที่เป็นหนี้จำเลยที่ 7 จำนวน 300,000 บาท และมีการต่อรองให้โจทก์ร่วมใช้หนี้แทน 200,000 บาท จำเลยที่ 3 ใช้หนี้เอง 50,000 บาท แล้วจำเลยที่ 7 ถอดสร้อยคอทองคำให้จำเลยที่ 4 นำไปใส่มือโจทก์ร่วมพร้อมกับถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นจำเลยที่ 4 นำสัญญายืมให้โจทก์ร่วมลงชื่อไว้
การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ยืนล้อมคุมเชิงโต๊ะเจรจาระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 4 และที่ 7 ไว้ เป็นพฤติการณ์ในเชิงข่มขู่โจทก์ร่วมอยู่ในตัวเพราะข้อเท็จจริงก่อนมีการเจรจา โจทก์ร่วมถูกบังคับใส่กุญแจมือมาพบจำเลยที่ 4 และที่ 7 ทั้งจำเลยที่ 4 ยังได้เตรียมแบบพิมพ์สัญญายืมและสัญญาค้ำประกันที่มีการกรอกข้อความ โจทก์ร่วมเป็นผู้ยืมสิ่งของจากจำเลยที่ 4 และมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันทั้งยังมีการถ่ายภาพโจทก์ร่วมถือสร้อยคอทองคำของจำเลยที่ 7 ไว้ในมือ เป็นพฤติการณ์ที่มีการวางแผนกันไว้ล่วงหน้าแล้วเพื่อบังคับและข่มขู่ให้โจทก์ร่วมซึ่งตกอยู่ในภาวะดังกล่าวจำยอมต้องลงชื่อในสัญญายืมแม้โจทก์ร่วมจะเป็นหนี้จำเลยที่ 3 อยู่ก็ตาม แต่จำเลยทั้งเจ็ดก็ไม่มีสิทธิใช้วิธีการที่ผิดกฎหมายในการบังคับให้โจทก์ร่วมจำยอมต้องชำระหนี้แทนจำเลยที่ 3 จึงเป็นการร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ตนเองได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ทำสัญญายืมสร้อยคอทองคำ อันเป็นเอกสารสิทธิจากจำเลยทั้งเจ็ดอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก อีกฐานหนึ่งด้วย แต่การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นการกระทำผิดต่อเนื่องและเจตนาเดียวกัน เพื่อบังคับให้โจทก์ร่วมชำระหนี้ให้จำเลยที่ 7 แทนที่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ฟังไม่ขึ้น
ขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถปาดหน้ารถยนต์ของโจทก์ร่วมให้หยุดรถ จากนั้นจำเลยที่ 6 เดินมาที่รถโจทก์ร่วมและบอกโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 กับผู้เสียหายที่ 3 ว่า เป็นเจ้าพนักงานตำรวจแล้วจับตัวโจทก์ร่วมใส่กุญแจมือควบคุมตัวไปพบจำเลยที่ 4 และที่ 7 โดยไม่มีอำนาจ ถือได้ว่าจำเลยที่ 6 ซึ่งไม่ได้เป็นพนักงานตำรวจได้แสดงตนเองว่าเป็นพนักงานตำรวจ ทั้งแสดงการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจโดยการจับโจทก์ร่วมใส่กุญแจมือเช่นเดียวกับเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมคนร้าย โดยจำเลยที่ 6 ไม่มีอำนาจแล้วควบคุมตัวโจทก์ร่วมไว้ การกระทำของจำเลยที่ 6 ดังกล่าวจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145 วรรคแรก ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 6 ฟังไม่ขึ้น

Share