แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องนำข้อความในบทบัญญัติในมาตรา 38 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มากล่าวในฟ้องเท่านั้น ไม่ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดในการกระทำความผิดของจำเลยว่า จำเลยประกอบกิจการให้เช่า หรือแลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์อย่างไร ภาพยนตร์ที่ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายนั้นมีลักษณะหรืออยู่ในรูปแบบใด สถานที่ประกอบกิจการอยู่บริเวณใด พอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องของโจทก์ส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
การที่โจทก์นำแต่เพียงข้อความอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์มาบรรยายในฟ้อง โดยไม่ได้บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ชอบ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาฯ โดยศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้พิพากษาลงโทษหรือยกฟ้องในข้อหานี้ แม้คำพิพากษาตอนท้ายจะระบุว่า “คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก” และจะแปลความได้ว่าพิพากษายกฟ้องในข้อหาดังกล่าวแต่ศาลต้องระบุเหตุผลในการตัดสินยกฟ้องด้วยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (6) (8) การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ไม่ได้พิพากษาในข้อหานี้เป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาทางอาญา ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์ไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1)
ความผิดฐานให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายซึ่งภาพยนตร์ที่ยังไม่ผ่านการตรวจพิจารณาฯ ตามมาตรา 25 พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ย่อมหมายถึงการตรวจเนื้อหาของภาพยนตร์ที่บันทึกในวัสดุต่างๆ ก่อนจะอนุญาตให้นำออกฉาย ให้เช่าแลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายในราชอาณาจักร เพื่อไม่ให้มีการเผยแพร่ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมออกสู่สาธารณะ โจทก์จึงต้องบรรยายข้อเท็จจริงในฟ้องให้ชัดเจนว่าจำเลยนำภาพยนตร์เรื่องใดบ้างที่ไม่ผ่านการตรวจออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่าย การที่โจทก์บรรยายฟ้องโดยระบุเพียงจำนวนแผ่นของภาพยนตร์ จึงเป็นฟ้องที่มิได้บรรยายถึงรายละเอียดที่เกี่ยวกับสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดี ย่อมเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4, 15, 31, 70, 75 และ 76 พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 25, 38, 78 และ 79 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 และ 91 สั่งให้จ่ายค่าปรับกึ่งหนึ่งให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์ ให้แผ่นภาพยนตร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ กับริบแผ่นภาพยนตร์จำนวน 26 แผ่นที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38, 79 (ที่ถูก มาตรา 79 ประกอบมาตรา 38 วรรคหนึ่ง) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับไม่ปรากฏว่า จำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวต่อไป โดยให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ฐานประกอบกิจการให้เช่าแลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ลงโทษปรับ 200,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 100,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ของกลางที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ตามฟ้องให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า “จำเลยได้บังอาจประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์ โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนและไม่ได้ยกเว้นใด ๆ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย” เป็นการนำข้อความในบทบัญญัติมาตรา 38 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมากล่าวไว้ในฟ้องเท่านั้น ไม่ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดในการกระทำความผิดของจำเลยว่าจำเลยประกอบกิจการให้เช่า หรือแลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์อย่างไร ภาพยนตร์ที่ให้เช่าแลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายนั้นมีลักษณะหรืออยู่ในรูปแบบใด สถานที่ประกอบกิจการอยู่ที่บริเวณใดถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด รวมทั้งข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ กับสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5)
ความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือเสนอจำหน่ายภาพยนตร์ ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 79 ประกอบมาตรา 38 วรรคหนึ่ง นั้น จำเลยต้องเป็นเจ้าของผู้ประกอบกิจการดังกล่าวเท่านั้น ดังนี้ การที่โจทก์นำแต่เพียงข้อความในกฎหมายอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานดังกล่าวมาบรรยายในฟ้องโดยไม่ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลย สถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น และสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตได้ และแม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ในปัญหานี้แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง
คดีนี้โจทก์ยังบรรยายฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์ที่ไม่ได้ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจาคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แต่ในคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ปรากฏว่าศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยหรือยกฟ้องในข้อหาความผิดฐานนี้ แม้จะแปลความหมายตอนท้ายของคำพิพากษาดังกล่าวซึ่งระบุว่า “คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก” ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้พิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดฐานให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ด้วยก็ตาม แต่ปรากฏว่าคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงต้องระบุถึงเหตุผลในการตัดสินยกฟ้องในข้อหาความผิดฐานดังกล่าวด้วย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (6) (8) การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้พิพากษาในข้อหาความผิดนี้ จึงเป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง แม้โจทก์ไม่อุทธรณ์ในเรื่องนี้ แต่เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ และเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาใหม่ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง มาตรา 15 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1)
การตรวจพิจารณาภาพยนตร์ของคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ก่อนจะอนุญาตให้นำออกฉายให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง ย่อมหมายถึงการตรวจเนื้อหาของภาพยนตร์ที่บันทึกในวัสดุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นฟิล์ม ดีวีดี หรือวีซีดี เพื่อไม่ให้มีการเผยแพร่ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมออกสู่สาธารณะ แต่ไม่ได้หมายถึงการตรวจตัววัสดุที่บันทึกภาพยนตร์นั้น ๆ ทุกชิ้น ทุกแผ่น ดังนั้น การบรรยายฟ้องในข้อหาความผิดฐานจำหน่ายในราชอาณาจักรซึ่งภาพยนตร์ที่ยังไม่ผ่านการตรวจและอนุญาตจากคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ อันเป็นความผิดตามมาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงต้องบรรยายข้อเท็จจริงให้ชัดเจนว่าจำเลยนำภาพยนตร์ใดบ้างที่ไม่ผ่านการตรวจออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย ไม่ใช่บรรยายฟ้องโดยเพียงแต่ระบุจำนวนแผ่นภาพยนตร์เช่นนี้ ฟ้องของโจทก์ในข้อหาความผิดฐานนี้เป็นฟ้องที่มิได้บรรยายถึงรายละเอียดที่เกี่ยวกับสิ่งของที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดของความผิดฐานนี้เท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานนี้ได้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบที่จะพิพากษายกฟ้องสำหรับข้อหาความผิดฐานนี้เสียด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 79 ประกอบมาตรา 38 วรรคหนึ่งและข้อหาความผิดฐานให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์ที่ไม่ได้ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง