คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2383/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ตามคำฟ้องจะเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 ซึ่งข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัย และผู้ทำละเมิดเกี่ยวข้องกับผู้เอาประกันภัยอย่างไร อันจะทำให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องร่วมรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนถือเป็นสาระสำคัญในเรื่องการบรรยายฟ้องก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าในชั้นยื่นคำให้การ จำเลยที่ 3 ให้การรับว่าได้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 ว-3766 กรุงเทพมหานคร ไว้จริง เพียงแต่ปฏิเสธว่าความเสียหายไม่ได้เกิดจากรถยนต์คันที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้รวมถึงการอ้างเหตุสุดวิสัย ตามคำให้การของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวยังระบุด้วยว่าจำเลยที่ 3 จะเสนอกรมธรรม์ประกันภัยในชั้นพิจารณา แสดงว่าจำเลยที่ 3 ครอบครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 ว-3766 กรุงเทพมหานคร ไว้ เมื่อจำเลยที่ 3 ได้รับสำเนาคำฟ้องจากโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงสามารถนำกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวมาตรวจสอบ และสามารถทราบได้ทันทีว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดในความเสียหายที่นาย ก. ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวก่อขึ้น กรณีจึงหาทำให้จำเลยที่ 3 หลงข้อต่อสู้ไม่ ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 จึงไม่เคลือบคลุม
ข้อที่ว่านาย ก. ขับรถยนต์ในขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรายาเมาถึงขนาดไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้หรือไม่ จำเลยที่ 3 มีภาระการพิสูจน์ ทางนำสืบของจำเลยที่ 3 มีเพียงผลการตรวจเลือดนาย ก. ว่า ตรวจพบแอลกอฮอล์ในเลือด 0.183 กรัมเปอร์เซ็นต์ และมีนาย อ. ผู้จัดการศูนย์ปฏิบัติการสินไหมทดแทนของจำเลยที่ 3 เบิกความสนับสนุนว่า ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ใหม่ กรมการประกันภัยกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่จะไม่ต้องรับผิดไว้จำนวน 0.150 กรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งตามข้อเท็จจริงดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะให้รับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุนาย ก. อยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรายาเมาถึงขนาดไม่สามารถควบคุมรถยนต์คันที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัย จำเลยที่ 3 จึงหาอาจยกข้อดังกล่าวขึ้นปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ได้ไม่
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ภายหลังเกิดเหตุบริษัท ก. ซึ่งรับประกันภัยความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางด่วนขั้นที่ 2 ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์จำนวน 464,893 บาท และต่อมาบริษัทดังกล่าวได้ใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 3 โดยมีการตั้งอนุญาโตตุลาการและร้องขอต่อศาลให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งจำเลยที่ 3 ได้ชำระให้แก่บริษัทดังกล่าวไปตามคำพิพากษาในคดีอนุญาโตตุลาการแล้วจำนวน 691,190 บาท โดยเป็นต้นเงินจำนวน 499,958 บาท จำเลยที่ 3 ซึ่งรับประกันภัยในความเสียหายต่อทรัพย์สินต่อหนึ่งครั้งเป็นเงินไม่เกิน 1,000,000 บาท จึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ในต้นเงินเพียง 500,042 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเท่านั้น ปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 3 ย่อมไม่อาจให้การต่อสู้ในคำให้การได้เนื่องจากศาลชั้นต้นในคดีที่ขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวก่อนที่จะอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ แต่ปัญหาเรื่องที่คำพิพากษาสองสำนวนในเหตุละเมิดครั้งเดียวกันจะบังคับให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 3 มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,075,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต และจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 1,075,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 มกราคม 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายโกศลและจำเลยที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 75,000 บาท ตามที่โจทก์ขอ และความผิดของจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมนั้น ต้องไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน กับให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ด้วย โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลรวม 5,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ประการแรกว่า คำฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดและเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 ว – 3766 กรุงเทพมหานคร และตกลงว่าจะรับผิดชดใช้ค่าเสียหายซึ่งเกิดจากรถยนต์คันดังกล่าวแก่ผู้ได้รับความเสียหาย โดยมิได้บรรยายรายละเอียดพอที่ให้จำเลยที่ 3 ทราบได้ว่า จำเลยที่ 3 เกี่ยวข้องอย่างไรกับนายโกศล หรือจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อย่างไรบ้าง คำฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม เห็นว่า แม้ตามคำฟ้องจะเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 ซึ่งข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัยไว้และผู้ทำละเมิดเกี่ยวข้องกับผู้เอาประกันภัยอย่างไร อันจะทำให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องร่วมรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนถือเป็นสาระสำคัญในเรื่องการบรรยายฟ้องก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าในชั้นยื่นคำให้การจำเลยที่ 3 ให้การรับว่า ได้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 ว – 3766 กรุงเทพมหานคร ไว้จริง เพียงแต่ปฏิเสธว่าความเสียหายไม่ได้เกิดจากรถยนต์คันที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้ รวมถึงการอ้างเหตุสุดวิสัย ตามคำให้การของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวยังระบุด้วยว่าจำเลยที่ 3 จะเสนอกรมธรรม์ประกันภัยในชั้นพิจารณา แสดงว่าจำเลยที่ 3 ครอบครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 ว – 3766 กรุงเทพมหานคร ไว้ เมื่อจำเลยที่ 3 ได้รับสำเนาคำฟ้องจากโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงสามารถนำกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวมาตรวจสอบและสามารถทราบได้ทันทีว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดในความเสียหายที่นายโกศลซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวก่อขึ้น กรณีจึงหาทำให้จำเลยที่ 3 หลงข้อต่อสู้ไม่ ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด ในปัญหานี้จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า นายโกศลขับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้ในขณะเมาสุราจนไม่อาจควบคุมรถยนต์ได้ กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และหากจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดความรับผิดของจำเลยที่ 3 ก็ไม่เกินกว่าความรับผิดที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยหักด้วยจำนวนเงินที่จำเลยที่ 3 ได้ชดใช้ให้แก่บริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ไปแล้ว เห็นว่า ในข้อที่ว่านายโกศลขับรถยนต์ในขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรายาเมาถึงขนาดที่ไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้หรือไม่นั้น จำเลยที่ 3 มีภาระการพิสูจน์ แต่ตามทางนำสืบของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 มีเพียงผลการตรวจเลือดนายโกศลที่ระบุว่าตรวจพบแอลกอฮอล์ในเลือด 0.183 กรัมเปอร์เซ็นต์ และมีผู้จัดการศูนย์ปฏิบัติการสินไหมทดแทนของจำเลยที่ 3 มาเบิกความสนับสนุนว่า ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ใหม่ทางกรมการประกันภัยกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่จะไม่ต้องรับผิดไว้จำนวน 0.150 กรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งตามข้อเท็จจริงดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะให้รับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุนายโกศลอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรายาเมาถึงขนาดที่ไม่สามารถควบคุมรถยนต์คันที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้ได้ จำเลยที่ 3 จึงหาอาจยกข้อดังกล่าวขึ้นปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ได้ไม่ สำหรับจำนวนค่าเสียหายที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ภายหลังเกิดเหตุในคดีนี้บริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งรับประกันภัยความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางด่วนขั้นที่ 2 ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ไปจำนวน 464,893 บาท และต่อมาบริษัทดังกล่าวได้ใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 3 โดยได้มีการตั้งอนุญาโตตุลาการและร้องขอต่อศาลให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งจำเลยที่ 3 ก็ได้ชำระเงินให้แก่บริษัทดังกล่าวไปตามคำพิพากษาในคดีอนุญาโตตุลาการแล้วจำนวน 691,190 บาท โดยเป็นต้นเงินจำนวน 499,958 บาท จำเลยที่ 3 ซึ่งรับประกันภัยในความเสียหายต่อทรัพย์สินต่อหนึ่งครั้งเป็นเงินไม่เกิน 1,000,000 บาท จึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ในต้นเงินเพียง 500,042 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเท่านั้น ซึ่งปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 3 ย่อมไม่อาจให้การต่อสู้ในคำให้การได้เนื่องจากศาลชั้นต้นในคดีที่ขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวก่อนที่จะอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ แต่ปัญหาเรื่องที่คำพิพากษาสองสำนวนในเหตุละเมิดครั้งเดียวกันจะบังคับให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 3 จึงมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดเป็นเงินจำนวน 500,042 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 18 มกราคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 3 รับผิดเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share