คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2381/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยให้ปฏิบัติตามข้อตกลงประนีประนอมยอมความซึ่งโจทก์และจำเลยได้ทำไว้ต่อหน้าศาลในคดีอาญา เรียกเงินจำนวน 500,000 บาทที่จำเลยจะต้องชำระหนี้ให้โจทก์ภายในวันที่ 15 มกราคม 2538 แต่จำเลยไม่ชำระให้ในเวลาที่กำหนด จำเลยฟ้องแย้งโดยอ้างว่าโจทก์ไม่ดำเนินการถอนแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนที่ให้ดำเนินคดีแก่ผู้ร้องสอดซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวในข้อหายักยอกทรัพย์ ทำให้จำเลยไม่สามารถขอคืนเงินค่าปรับนายประกันจากศาลที่สั่งปรับนายประกันเป็นเงินจำนวน 500,000 บาทได้ และความเสียหายส่วนนี้เมื่อนำมาหักกลบกับจำนวนเงินตามฟ้องแล้วจำเลยไม่ต้องชำระเงินให้แก่โจทก์อีก และการที่โจทก์ไม่ดำเนินการถอนแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ร้องสอดต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ไม่สามารถทำการงานเป็นหลักแหล่งได้จึงให้โจทก์ชำระค่าเสียหายส่วนนี้แก่จำเลยทั้งสอง นับแต่วันผิดสัญญาถึงวันฟ้องจำนวน360,000 บาท และนับถัดจากวันฟ้องอีกเดือนละ 15,000 บาท จนกว่าโจทก์จะดำเนินการถอนแจ้งความร้องทุกข์นั้น ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับการขอคืนเงินค่าปรับนายประกันนั้นเป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไข เพราะไม่แน่ว่าจำเลยทั้งสองจะขอคืนเงินค่าปรับที่ศาลสั่งปรับนายประกันได้หรือไม่ ทั้งการนำเงินที่ได้คืนจากค่าปรับเพื่อนำมาหักกลบกับเงินที่ต้องชำระให้โจทก์ตามข้อตกลงประนีประนอมยอมความนั้น ก็มิได้มีอยู่ในข้อตกลงประนีประนอมยอมความที่ได้ทำไว้ต่อกันข้ออ้างของจำเลยทั้งสองจึงเป็นข้ออ้างที่ยกขึ้นมาใหม่ และในส่วนของค่าเสียหายที่ผู้ร้องสอดไม่ได้ทำงานก็เป็นความเสียหายของผู้ร้องสอด มิใช่ความเสียหายของจำเลยแต่อย่างใด ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 177วรรคสาม และมาตรา 179 วรรคท้าย
โจทก์ฟ้องจำเลยเนื่องจากจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงประนีประนอมยอมความที่ได้กระทำต่อหน้าศาล จึงเป็นเรื่องโต้แย้งระหว่างโจทก์กับจำเลยเท่านั้น หาได้เกี่ยวกับผู้ร้องสอดไม่ ผู้ร้องสอดจึงไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีที่จะใช้สิทธิในการร้องสอดได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 57

Share