คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2380/2517

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยออกเช็คให้แก่ ย. ลงวันที่ 14 เมษายน 2515 ย. นำเช็คไปเข้าบัญชี ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยบอกว่า “ยังรอเรียกเก็บเงินอยู่ โปรดนำมายื่นใหม่” วันที่17 เดือนเดียวกัน ย. นำเช็คไปเข้าบัญชีอีกครั้งหนึ่ง ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน แจ้งว่าให้ไปติดต่อผู้สั่งจ่ายต่อมา ย. สลักหลังเช็คให้โจทก์ โจทก์นำไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2515 ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอีกโดยแจ้งว่าบัญชีปิดแล้ว ดังนี้ถือว่าความผิดได้เกิดขึ้นและรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน 2515 โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อเกินสามเดือนนับแต่นั้น คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้เพิ่มเติมฟ้องว่า ประมาณวันที่ 31 มีนาคมถึง 20 มิถุนายน 2515 วันใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางวัน จำเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาราชวัตร หมายเลขเช็คที่ 790849สั่งจ่ายเงินจำนวน 20,000 บาท ลงวันที่สั่งจ่ายวันที่ 14 เมษายน 2515 มอบให้ผู้อื่นเป็นการชำระหนี้ ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2515 เวลากลางวัน นายบรรยง ถิรคุณโกวิท ได้เซ็นชื่อสลักหลังโอนเช็คดังกล่าวให้โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ และในวันที่ 19 มิถุนายน 2515 โจทก์นำเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาราชวิถี เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คให้โจทก์ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาราชวัตรปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2515 โดยให้เหตุผลว่า”บัญชีปิดแล้ว” ทั้งนี้ตามวันเวลาดังกล่าว จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น และออกเช็คโดยในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้นและจำเลยได้ถอนเงินออกจากบัญชีอันจะพึงจะใช้เงินตามเช็คจนไม่มีเงินเหลือพอจะใช้เงินตามเช็ค และออกเช็คโดยในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ เหตุเกิดที่ตำบลวชิระ อำเภอสามเสน จังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และที่ตำบลถนนนครไชยศรี อำเภอดุสิต จังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี ต่อเนื่องกัน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา

จำเลยให้การปฏิเสธ และว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยเรื่องเช็คว่า เป็นเช็คที่จำเลยออกเพื่อชำระหนี้เงินมัดจำในการซื้อขายที่ดินระหว่างนายบรรยงผู้ขายกับจำเลยผู้ซื้อที่ดิน ไม่ใช่ออกเพื่อประกันสัญญาซื้อขาย และวินิจฉัยต่อไปว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 เพราะโจทก์มิได้ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีนี้ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับพิพาทแล้วตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน 2515 ถือว่าความผิดได้เกิดขึ้นและเป็นวันรู้เรื่องการกระทำผิด คือการออกเช็คโดยไม่มีเงินในบัญชีพอจ่าย และรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้ว อายุความจึงต้องเริ่มนับทันทีแต่วันนั้น เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้คือวันที่ 1 สิงหาคม 2515 เป็นเวลาเกินกว่าสามเดือน และก่อนฟ้องคดีนี้มิได้มีการร้องทุกข์ คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 จะถือเอาการที่โจทก์เป็นผู้รับโอนเช็คมาเป็นเหตุให้ยังไม่เริ่มนับอายุความแต่วันกระทำผิด ซึ่งจะเป็นโทษแก่จำเลยนั้นไม่ได้ พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีนี้โจทก์ขอแถลงการณ์ด้วยวาจา แต่เห็นว่าการแถลงการณ์ด้วยวาจาไม่จำเป็นแก่คดีจึงให้งดเสีย ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2515 จำเลยมอบเช็คพิพาทลงวันที่ 14 เมษายน 2515 ให้นายบรรยง ถิรคุณโกวิท เป็นเงินค่ามัดจำซื้อที่ดินที่จำเลยจะซื้อจากนายบรรยง และในวันที่ 14 เมษายน 2515 นายบรรยงนำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาธนบุรี ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยบอกว่ายังรอเรียกเก็บเงินอยู่ โปรดนำมายื่นใหม่ วันที่ 17 เดือนเดียวกัน นายบรรยงนำเช็คเข้าบัญชีอีกครั้งหนึ่งธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่าให้ไปติดต่อผู้สั่งจ่าย ต่อมานายบรรยงสลักหลังเช็คให้โจทก์ไป โจทก์นำเช็คเข้าบัญชีธนาคารเพื่อเรียกเก็บเงินวันที่ 20 มิถุนายน 2515 ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอีกครั้งหนึ่งโดยอ้างว่าบัญชีปิดแล้ว ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่าความผิดที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 หรือไม่

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เช็คฉบับพิพาทได้ถูกธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาราชวัตร ปฏิเสธการจ่ายเงินมาก่อนถึงสองครั้งแล้ว คือครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2515 ซึ่งธนาคารปฏิเสธว่า “ยังรอเรียกเก็บเงินอยู่ โปรดนำมายื่นใหม่” ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2515 ซึ่งธนาคารปฏิเสธว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” และขณะนั้นนายบรรยงเป็นผู้ทรงเช็ค ปรากฏตามเอกสาร ล.1 และ ล.3 ต่อมานายบรรยงสลักหลังเช็คพิพาทโอนให้โจทก์ โจทก์นำไปขึ้นเงินและถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอีกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2515 เช่นนี้เห็นได้ว่าธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับพิพาทแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน 2515 ความผิดได้เกิดขึ้นและเป็นวันรู้เรื่องการกระทำผิดคือการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นหรือออกเช็คโดยในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้หรือจำเลยได้ถอนเงินจากบัญชีอันพึงจะใช้เงินตามเช็คจนไม่มีเงินเหลือพอจะใช้เงินตามเช็ค หรือออกเช็คโดยในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ และรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้ว เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ คือวันที่ 1 สิงหาคม 2515 เป็นเวลาเกินกว่าสามเดือน คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 แม้โจทก์จะเป็นผู้ทรงเช็คภายหลังก็ตาม ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share