แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินได้กำหนดเวลาชำระหนี้ต่อกันไว้แน่นอน เมื่อโจทก์ผู้จะซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระเงินให้ครบถ้วนตามสัญญา จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะไม่โอนที่ดินให้โจทก์ได้ การที่โจทก์ทำสัญญากู้ให้แก่จำเลยเท่ากับจำนวนค่าที่ดินส่วนที่ขาดเพื่อให้เป็นประกันต่อกันย่อมมิใช่การชำระหนี้ เพราะวัตถุประสงค์แห่งหนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องชำระด้วยเงินเท่านั้น.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1308 ซึ่งจำนองไว้ต่อสหกรณ์การเกษตรไชยา จำกัด จำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของจำเลยดังกล่าวให้แก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่จำเลย 62,500 บาท ในวันที่ 30 ธันวาคม 2528เป็นค่ามัดจำ ส่วนที่เหลือตกลงชำระให้ภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2529และจำเลยจะโอนที่ดินให้ในวันเดียวกัน โจทก์ได้ชำระเงินตามสัญญาส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยครบถ้วนภายในกำหนดแล้ว แต่จำเลยผิดสัญญาไม่โอนที่ดินให้โจทก์ ขอให้จำเลยไปทำการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 1308 และทำการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ยอมปฏิบัติก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่ชำระเงินให้แก่จำเลยภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2529 แต่จำเลยก็ยินยอมให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่ค้างจำนวน 62,500 บาท ภายในระยะเวลา 1 ปีโดย ทำสัญญากู้ไว้เป็นหลักฐาน แต่เมื่อครบกำหนดโจทก์ไม่ชำระเงินจำเลยมีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ชำระเงินอีกแต่โจทก์เพิกเฉยจำเลยจึงมีหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญาต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์จำเลยนำสืบฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2528 โจทก์ตกลงจะซื้อที่พิพาทจากจำเลยในราคา 200,000 บาท ปรากฏตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.2โจทก์ได้ชำระเงินมัดจำให้จำเลยเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2528เป็นเงิน 62,500 บาท ส่วนที่เหลืออีก 137,500 บาท ตามสัญญาโจทก์ต้องชำระให้จำเลยในวันที่ 30 พฤษภาคม 2529 และจำเลยจะต้องโอนที่พิพาทให้กับโจทก์ในวันเดียวกันนี้ เมื่อถึงกำหนดดังกล่าวโจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลย 75,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก62,500 บาท โจทก์ทำสัญญากู้ให้กับจำเลยไว้เป็นประกันโดย ระบุว่าจะชำระเงินกู้ภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2530 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 และบันทึกด้านหลังสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.2 เมื่อครบกำหนดตามสัญญากู้แล้ว โจทก์ชำระเงินให้กับจำเลย 20,000 บาทคงค้างชำระอยู่ 42,500 บาท วันที่ 26 กรกฎาคม 2531 จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ให้โจทก์นำเงินที่ค้างมาชำระและนัดโอนที่ดินในวันที่ 3 สิงหาคม 2531 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 วันที่ 3สิงหาคม 2531 โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยว่ายังไม่มีเงินชำระให้แก่จำเลย ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.7 ต่อมาวันที่ 1 กันยายน 2531จำเลยได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทไปยังโจทก์ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.4 ปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกามีว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาท
ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความข้างต้นจะเห็นว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทรายนี้ เป็นสัญญาต่างตอบแทน คู่สัญญามีกำหนดชำระหนี้ต่อกันแน่นอนในวันที่ 30 พฤษภาคม 2529 แต่เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ตามสัญญา โจทก์กลับไม่มีเงินชำระหนี้ให้แก่จำเลยได้ครบถ้วนคงชำระหนี้ให้เพียงบางส่วน ส่วนที่ค้างชำระโจทก์ได้ทำเป็นสัญญากู้ให้กับจำเลยไว้เป็นประกัน มีกำหนดชำระเงิน 1 ปี จึงเท่ากับคู่กรณีตกลงให้เลื่อนการชำระหนี้ออกไปอีก 1 ปี แต่เมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญากู้แล้ว โจทก์ก็ยังไม่สามารถนำเงินมาชำระให้แก่จำเลยได้ครบถ้วน คงชำระให้อีกเพียงบางส่วน จำเลยได้เลื่อนการชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 3 สิงหาคม 2531แต่เมื่อถึงวันที่เลื่อนมาโจทก์ก็ไม่ชำระหนี้ส่วนที่ขาดให้แก่จำเลย เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา หาใช่จำเลยผิดสัญญาไม่ เมื่อโจทก์ไม่ชำระหนี้ค่าที่ดินให้ครบถ้วนถูกต้องตามสัญญา จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะไม่โอนที่ดินให้แก่โจทก์ได้การที่โจทก์ทำสัญญากู้ให้แก่จำเลยเท่ากับจำนวนค่าที่ดินส่วนที่ขาดก็เพื่อให้เป็นประกันต่อกันเท่านั้น หาใช่เป็นการชำระหนี้ที่ถูกต้องดังที่โจทก์ฎีกาไม่ เพราะวัตถุประสงค์แห่งหนี้ที่โจทก์ต้องปฏิบัติการชำระแก่จำเลย คือชำระด้วยเงินเท่านั้น และแม้จะได้ความตามที่โจทก์อ้างว่า จำเลยตกลงจะโอนที่ดินให้โจทก์ภายใน2 เดือน นับแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2529 แต่ก็ต้องได้ความว่าโจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่จำเลยครบถ้วนเสียก่อน เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะไม่โอนที่พิพาทให้แก่โจทก์ได้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ยกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว”
พิพากษายืน