คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2377/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองจำคุก 1 ปี 4 เดือน และฐานพาอาวุธปืนโดยไม่รับอนุญาตจำคุก 8 เดือน แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ปรับจำเลยที่ 1ในข้อหาฐานมีอาวุธปืน 7,000 บาท และข้อหาฐานพาอาวุธปืน 2,000 บาทอีกสถานหนึ่ง ซึ่งเป็นการแก้ไขมาก แต่ก็ไม่ใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 กรณีจึงต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา 219 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่จำเลยที่ 1ฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังเป็นที่น่าสงสัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองอาวุธปืนและพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควรหรือไม่เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมา จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้าม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340, 340 ตรี, 295, 371, 91, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบอาวุธปืน กระสุนปืนและมีดปลายแหลมของกลาง คืนเสื้อลายสก็อตสีแดงกับกางเกงยีน 1 ชุดให้แก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคสอง, 340 ตรี, 371, 91, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสองลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานปล้นทรัพย์จำคุก 22 ปี 6 เดือน ฐานมีอาวุธปืนกระสุนปืนไว้ในครอบครองจำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนโดยไม่รับอนุญาตเป็นความผิดกรรมเดียวกันกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 2มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง, 83ลงโทษจำคุก 15 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนนับว่าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษจึงลดโทษให้จำเลยคนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 แล้วลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานปล้นทรัพย์จำคุก 15 ปี ฐานมีอาวุธปืน กระสุนปืน ไว้ในครอบครอง จำคุก 1 ปี 4 เดือนและฐานพาอาวุธปืนโดยไม่รับอนุญาตจำคุก 8 เดือน รวมลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 17 ปี และจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 10 ปี อาวุธปืนกระสุนปืนและมีดปลายแหลมของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดให้ริบ คืนเสื้อลายสก็อตสีแดงและกางเกงยีน 1 ชุดให้แก่เจ้าของ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายศาลอุทธรณ์จึงให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 เสียจากสารบบความ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยที่ 1 ในข้อหาฐานมีอาวุธปืน 7,000 บาท และข้อหาฐานพาอาวุธปืน 2,000 บาทอีกสถานหนึ่ง รวมปรับ 9,000 ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 แล้ว คงปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 โดยกำหนดเงื่อนไขให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้งมีกำหนด 1 ปี ด้วย ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ข้อหาฐานปล้นทรัพย์ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อหาความผิดฐานมีและพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนติดตัวไปในเมืองและทางสาธารณะโดยไม่รับใบอนุญาตนั้น ปรากฎว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1ฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองจำคุก 1 ปี 4 เดือน และฐานพาอาวุธปืนโดยไม่รับอนุญาตจำคุก 8 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ปรับจำเลยที่ 1 ในข้อหาฐานมีอาวุธปืน 7,000 บาท และข้อหาฐานพาอาวุธปืน 2,000 บาท อีกสถานหนึ่ง รวมปรับ 9,000 บาทลดโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 6,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 โดยกำหนดเงื่อนไขให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้ง มีกำหนด 1 ปี ด้วยไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไม่เกินสองปีปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยที่ 1 ไม่เกินกำหนดดังกล่าวแม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้ไขมาก แต่ก็ไม่ใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 กรณีจึงต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา 219 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังเป็นที่น่าสงสัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองอาวุธปืนและพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควรหรือไม่เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ขึ้นมา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะข้อหาความผิดฐานปล้นทรัพย์สำหรับจำเลยที่ 1 ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และให้ยกฎีกาจำเลยที่ 1

Share