คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2376/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินยึดอำนาจของรัฐได้โดยเด็ดขาดแล้วหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ย่อมมีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนข้าราชการได้ คำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่ 9/2519 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2519 เป็นคำสั่งเกี่ยวเนื่องกับการบริหารราชการแผ่นดิน แม้ก่อนหน้านั้นจะมีคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินให้บรรดาอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีให้เป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินหรือผู้ที่หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินมอบหมาย และให้บรรดาอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ว่าเป็นอำนาจของรัฐมนตรี ให้เป็นอำนาจของปลัดกระทรวง คำสั่งดังกล่าวก็ไม่ตัดอำนาจของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่จะสั่งการเป็นกรณีเฉพาะเรื่องเฉพาะรายตามอำนาจที่มีอยู่ ดังนั้น คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์เป็นข้าราชการ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากราชการ โจทก์จะฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยบรรจุโจทก์กลับเข้ารับราชการไม่ได้ เพราะการขอกลับเข้ารับราชการนั้นขึ้นอยู่กับทางราชการว่าต้องการจะรับโจทก์เข้ารับราชการหรือไม่ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 มาตรา 57

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์รับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญระดับ ๑๑ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้มีคำสั่งที่ ๙/๒๕๑๙ ลงวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ให้โจทก์ออกจากราชการโดยโจทก์มิได้กระทำผิดวินัย คำสั่งดังกล่าวจึงขัดต่อกฎหมายและเป็นโมฆะ ขอให้พิพากษาว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นโมฆะ และให้จำเลยบรรจุและแต่งตั้งโจทก์เข้าดำรงตำแหน่งตามเดิม
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่ ๙/๒๕๑๙ จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ต้องฟังข้อเท็จจริงเสียก่อนว่า ได้มีการปฏิบัติตามขั้นตอนตามมาตรา ๘๖, ๘๖ ทวิ และ ๘๗ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ หรือไม่ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ ให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องเฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ ส่วนคำขอของโจทก์ที่ขอให้พิพากษาว่าคำสั่งที่ ๙/๒๕๑๙ เป็นโมฆะนั้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดไปตามแนวคำวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาว่าคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่ ๙/๒๕๑๙ ลงวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าเมื่อคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินยึดอำนาจของรัฐได้โดยเด็ดขาดแล้ว หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยย่อมมีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนข้าราชการได้ คำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่ ๙/๒๕๑๙ ลงวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ เป็นคำสั่งเกี่ยวเนื่องกับการบริหารราชการแผ่นดิน แม้ก่อนหน้านั้นจะมีคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินให้บรรดาอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีให้เป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินหรือผู้ที่หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินมอบหมาย และให้บรรดาอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ว่าเป็นอำนาจของรัฐมนตรีให้เป็นอำนาจของปลัดกระทรวง คำสั่งดังกล่าวก็ไม่ตัดอำนาจของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่จะสั่งการเป็นกรณีเฉพาะเรื่องเฉพาะรายตามอำนาจที่มีอยู่ ดังนั้น คำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่ ๙/๒๕๑๙ ลงวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ เรื่องให้ข้าราชการพลเรือนออกจากราชการและแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน ซึ่งสั่งให้โจทก์ออกจากราชการด้วยนั้น จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ ๑ ละเว้นการปฏิบัติตามหน้าที่ทำให้โจทก์เสียหาย เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์นั้น เห็นว่าการขอ
กลับเข้ารับราชการขึ้นอยู่กับทางราชการต้องการจะรับโจทก์เข้ารับราชการหรือไม่ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๕๗ ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ ๑ บรรจุโจทก์กลับเข้ารับราชการ
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share