แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ใบตรวจสอบคืนน้ำเค็ม-ขวดเปล่าเป็นเอกสารสำคัญที่ใช้ในการควบคุมสินค้าเข้าออกทั้งหมดของนายจ้างหากมีการแก้ไขตัวเลขในเอกสารดังกล่าวให้ผิดไปจากความจริงจะทำให้ไม่สามารถตรวจสอบจำนวนสินค้าได้และการแก้ไขดังกล่าวจะทำมีการทุจริตได้การที่ลูกจ้างได้ลงลายมือชื่อกำกับการแก้ไขตัวเลขซึ่งพนักงานอีกคนหนึ่งเป็นผู้แก้ไขซึ่งนายจ้างมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานห้ามไว้เพื่อปกป้องผลประโยชน์หรือทรัพย์สินของนายจ้างและป้องกันการทุจริตการกระทำของลูกจ้างดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างเป็นกรณีที่ร้ายแรงกรณีต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ47(4)ซึ่งนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา583
ย่อยาว
โจทก์ทั้งห้าฟ้องเรียกค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าเสียหาย ค่าจ้าง และเงินอื่น พร้อมดอกเบี้ยจากจำเลย
จำเลยทั้งห้าสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งห้าปลอมแปลงแก้ไขเอกสารสำคัญของจำเลย จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าได้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างชำระแก่โจทก์ทั้งห้าพร้อมดอกเบี้ย คำขออื่นให้ยก
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่นายจ้างกำหนดระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ไว้เพื่อให้ลูกจ้างปฏิบัตินั้น ก็เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการปฏิบัติงาน และเพื่อเป็นการป้องกันมิให้ลูกจ้างกระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของนายจ้าง หากกระทำของลูกจ้างอาจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือในทางอื่นใดแล้ว นายจ้างย่อมมีอำนาจพิจารณาลงโทษลูกจ้างไปตามระเบียบข้อบังคับกำหนดไว้ได้กรณีของโจทก์ทั้งห้าปรากฏว่า โจทก์ทั้งห้าได้ลงลายมือชื่อกำกับการแก้ไขตัวเลขในใบตรวจสอบคืนน้ำเค็ม-ขวดเปล่าให้ผิดไปจากความจริง ซึ่งนายสมพงษ์ อยู่ทอง พนักงานตรวจสอบรายการสินค้า(เช็กเกอร์) เป็นผู้แก้ไขตัวเลข เว้นแต่โจทก์ที่ 5 ได้แก้ไขตัวเลขและลงลายมือชื่อด้วยตนเอง ได้ความว่าการที่จำเลยต้องออกระเบียบเกี่ยวกับการกรอกรายการในใบตรวจสอบคืนน้ำเต็ม-ขวดเปล่าเพื่อตรวจสอบการจำหน่ายสินค้า ใบตรวจสอบคืนน้ำเต็ม-ขวดเปล่าจึงเป็นเอกสารสำคัญที่ใช้ในการควบคุมสินค้าเข้าออกทั้งหมดหากมีการแก้ไขตัวเลขในใบตรวจสอบคืนน้ำเต็ม-ขวดเปล่า ให้ผิดไปจากความเป็นจริง จะทำให้ไม่สามารถตรวจสอบจำนวนสินค้าได้และการแก้ไขดังกล่าวจะทำให้มีการทุจริตได้ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ข้อ 11.3 ระบุว่า โทษทางวินัยร้ายแรง บริษัทจะลงโทษเลิกจ้างโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า และจะไม่จ่ายเงินค่าชดเชยหากพนักงานกระทำผิดอย่างร้ายแรงอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้(1) การกระทำโดยจงใจทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย (5) ปลอมแปลงแก้ไขเอกสาร หรือหลักฐานหรือให้หลักฐานเท็จแก่บริษัทเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ฯลฯ เมื่อโจทก์ทั้งห้ากระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยและระเบียบข้อบังคับดังกล่าวซึ่งวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องผลประโยชน์หรือทรัพย์สินของจำเลยและป้องกันทุจริต การกระทำของโจทก์ทั้งห้าถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรง กรณีต้องห้ามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) ซึ่งจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าชดเชย เงินสะสมสมทบพร้อมสิทธิประโยชน์สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายตามฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งห้า
พิพากษายืน