แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อได้เลิกสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 1ผู้เช่าซื้อแล้วและไม่ปรากฏว่าขณะที่เลิกสัญญาจำเลยที่ 1มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย ส่วนสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับผู้เช่าซื้อคนใหม่จะสมบูรณ์หรือไม่ใช้บังคับได้เพียงใดไม่เกี่ยวกับจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เนื่องจากการที่ผู้เช่าซื้อคนใหม่ผิดสัญญาเช่าซื้อ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2531 จำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น-6003 เชียงใหม่ไปจากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันในราคา 84,798 บาทตกลงผ่อนชำระ 42 งวด งวดละ 2,019 บาท ภายในวันที่ 15 ของเดือนชำระงวดแรกวันที่ 15 ธันวาคม 2532 จำเลยที่ 1 ชำระเงินได้4 งวด คงค้างชำระตั้งแต่งวดที่ 5 ตลอดมาจนกระทั่งวันที่15 สิงหาคม 2532 โจทก์จึงติดตามรถยนต์คืนมาได้ในสภาพเสียหายชำรุดมาก ค่าซ่อมจะต้องใช้จ่ายมาก โจทก์จึงขายไปในราคา 42,000บาท ช่วงที่จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่คืนรถแก่โจทก์ ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์วันละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 12,300 บาท ค่าติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนเป็นเงิน 3,500 บาท ค่าขายรถยนต์ขาดจากราคาเช่าซื้อ 42,798 บาท ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 58,598 บาทพร้อมดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 12,300 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินให้โจทก์25,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติจากทางนำสืบของโจทก์ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2531 จำเลยที่ 1ได้เช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องไปจากโจทก์ในราคา 84,798 บาท ตกลงผ่อนชำระเป็น 42 งวด ทุกวันที่ 15 ของเดือน งวดละ 2,019 บาทเริ่มงวดแรกวันที่ 15 ธันวาคม 2531 โดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 และสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์เพียง 4 งวดแล้วไม่ได้ชำระอีกเลย โดยจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 1 ถึงงวดที่ 4พร้อมกันในวันที่ 1 มีนาคม 2532 และในวันนั้นเองจำเลยที่ 1ยอมเสียค่าปรับแก่โจทก์ในการชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าเป็นเงิน259 บาท กับยอมเสียเงินแก่โจทก์ 800 บาท เป็นค่าเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อจากจำเลยที่ 12 เป็นนายเปี๊ยก สุทธิจริตธรรมแต่นายเปี๊ยกผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ โจทก์จึงติดตามยึดรถยนต์พิพาทคืนมาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2532 คดีมีปัญหาขึ้นสู่ศาลฎีกาว่า จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ปัญหาข้อนี้โจทก์ฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับนายเปี๊ยก สุทธิจริตธรรม ผู้เช่าซื้อคนใหม่ของโจทก์ยังไม่สมบูรณ์ เพราะนายเปี๊ยกยังหาผู้ค้ำประกันอีกคนหนึ่งไม่ได้และทางโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้ว จึงยังถือไม่ได้ว่าการเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 มาเป็นนายเปี๊ยกมีผลบังคับได้ เห็นว่าการที่โจทก์ยอมรับเงินจากจำเลยที่ 1เป็นค่าปรับในการชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าเป็นเงิน 259 บาทและเงินค่าเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 เป็นนายเปี๊ยกเป็นเงิน 800 บาท โดยได้ความจากคำเบิกความของนายประเสริฐหมื่นราช ผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อของโจทก์ว่า ได้บันทึกในช่องหมายเหตุบัญชีเช่าซื้อรถเอกสารหมาย จ.6 โดยขีดเส้นแดงไว้แล้วนำยอดบัญชีไปใส่ในบัญชีของผู้เช่าซื้อต่อจากจำเลยที่ 1และได้มีการเปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกันเป็นรายใหม่ด้วยเป็นนายชัย สุทธิจริตธรรม แล้วได้มอบรถยนต์พิพาทที่จำเลยที่ 1คืนให้โจทก์ให้แก่นายเปี๊ยกผู้เช่าซื้อคนใหม่ไป กับในชั้นที่โจทก์ไปยึดรถยนต์พิพาทคืนมาก็ไปยึดมาจากนายเปี๊ยก เหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเนื่องจากไม่สามารถติดตามตัวนายเปี๊ยกและนายชัย (ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันคนใหม่) ได้ ข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของนายประเสริฐ หมื่นราช ผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อของโจทก์ดังกล่าวเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดว่า โจทก์ได้เลิกสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 1 และไม่ปรากฏว่าขณะที่เลิกสัญญาจำเลยที่ 1 มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย ส่วนการที่สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับนายเปี๊ยกผู้เช่าซื้อคนใหม่ของโจทก์จะสมบูรณ์หรือไม่ใช้บังคับได้เพียงใดเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวกับนายเปี๊ยกต่อไป ไม่เกี่ยวกับจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน