คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 237/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การขอขยายระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.พ. หรือตามที่ศาลกำหนดไว้ หรือตามกฎหมายอื่นให้พึงทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษโจทก์ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 วันที่ 19 สิงหาคม 2534 แต่ไม่ทำฎีกาและยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดีอนุญาตให้ฎีกาจนเวลาล่วงเลยไปถึงวันที่ 17 กันยายน 2534 ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 2 วันจะครบกำหนดยื่นฎีกากลับมายื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาอ้างว่าผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดีในศาลชั้นต้นย้ายไปรับราชการศาลอื่น ทั้งที่ปรากฏว่าผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีอีกนายยังรับราชการที่ศาลชั้นต้นนั้นเอง และถึงแม้โจทก์จะให้ผู้พิพากษาที่ย้ายไปเป็นผู้อนุญาตให้ฎีกา ระยะเวลาภายในหนึ่งเดือนก็เพียงพอที่จะดำเนินการหากโจทก์รีบจัดการเสียแต่เนิ่น ๆ ข้ออ้างดังกล่าวของโจทก์ถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษ จึงไม่เป็นเหตุที่จะขยายระยะเวลาฎีกาให้.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 262, 264, 265, 268, 358, 359(4),362, 365, 83, 84, 86, 91, 180 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องว่า โจทก์ทั้งสองมีความประสงค์จะยื่นฎีกา แต่เนื่องจากผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีหรือลงชื่อในคำพิพากษาได้ย้ายไปรับราชการที่อื่น โจทก์ทั้งสองกำลังติดต่อขอให้ลงชื่อรับรองฎีกา จึงขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาออกไปอีก 25 วัน นับแต่วันครบกำหนด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้พิพากษาที่พิพากษาคดีนี้ในศาลชั้นต้นยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ศาลชั้นต้น จึงไม่มีเหตุที่จะขยายระยะเวลายื่นฎีกา ให้ยกคำร้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองเป็นการอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวเนื่องกับการรับหรือไม่รับฎีกา จึงให้ส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า คำสั่งศาลชั้นต้นเรื่องขยายเวลายื่นฎีกามิใช่คำสั่งในเรื่องเกี่ยวเนื่องกับการที่จะรับหรือไม่รับฎีกา ที่ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมาให้ศาลฎีกาเป็นการไม่ถูกต้อง ให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไปตามขั้นตอน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อพิจารณา
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คดีมีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้แก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1วันที่ 19 สิงหาคม 2534 โจทก์ทั้งสองไม่ทำฎีกาและคำร้องยื่นขอให้ผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดีอนุญาตให้ฎีกาจนเวลาล่วงเลยไปถึงวันที่17 กันยายน 2534 ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 2 วันจะครบกำหนดยื่นฎีกากลับมายื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาออกไปอีก 25 วัน นับแต่วันครบกำหนด อ้างว่าผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้ย้ายไปรับราชการที่ศาลอื่น ทั้งที่ปรากฏว่าผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีอีกนายหนึ่งยังรับราชการอยู่ที่ศาลชั้นต้นนั้นเอง และถึงแม้โจทก์ทั้งสองประสงค์จะให้ผู้พิพากษาที่ย้ายไปเป็นผู้อนุญาตให้ฎีการะยะเวลาภายในหนึ่งเดือนก็เพียงพอที่จะดำเนินการได้ทันหากโจทก์ทั้งสองรีบจัดการเสีย แต่เมื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังนี้ข้ออ้างดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษจึงไม่เป็นเหตุที่จะขยายระยะเวลายื่นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share