แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยขายลดเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายให้แก่ผู้เสียหาย ต่อมาผู้เสียหายนำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัดสาขานราธิวาสซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาสและธนาคารดังกล่าวปฏิเสธการจ่ายเงิน ผู้เสียหายจึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาสให้ดำเนินคดีจำเลยในข้อหาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 แต่จำเลยได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนอำเภอสุไหงโกลก ว่าเช็คฉบับดังกล่าวหายไปพนักงานอัยการเห็นว่าการแจ้งความดังกล่าวเป็นความผิดฐานฉ้อโกงและแจ้งความเท็จ จึงสั่งให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนราธิวาสสอบสวนเพิ่มเติมและแจ้งข้อหาต่อจำเลยเพิ่มเติมดังนี้ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนราธิวาส ย่อมมีอำนาจสอบสวนจำเลยในข้อหาแจ้งความเท็จได้ เพราะจำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19(4) และเมื่อเป็นความผิดหลายกระทงย่อมฟ้องรวมในฟ้องเดียวกันได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 160 ทั้งความผิดฐานแจ้งความเท็จมีอัตราโทษเบากว่าความผิดฐานฉ้อโกงและความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค แม้จะเป็นการกระทำต่างกรรม ต่างสถานที่ แต่ก็ได้กระทำลงโดยจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดคนเดียวกันและเป็นความผิดเกี่ยวพันกัน ซึ่งจะฟ้องคดีทุกเรื่องต่อศาลที่มีอำนาจชำระในฐานความผิดซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่าก็ได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 24 กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดพ.ศ. 2520 โจทก์จึงฟ้องจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จโดยไม่ต้องขอผัดฟ้อง พร้อมกับความผิดฐานฉ้อโกงและความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341,137, 90, 91 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 3 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน2,961,780.82 บาท แก่ผู้เสียหายสาขาสุไหงโก-ลก ด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 137, 90, 91พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526มาตรา 4 สำหรับข้อหาออกเช็คโดยเจตนามิให้มีการใช้เงินตามเช็คและฉ้อโกงทรัพย์ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 3 ปี และเรียงกระทงลงโทษจำเลยในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ให้จำคุก 6 เดือนรวม 2 กระทง จำคุก 3 ปี 6 เดือน กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน2,961,780.82 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยอุทธรณ์
ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง และถอนคำร้องทุกข์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำหน่ายคดีเฉพาะความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค และความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว จำเลยฎีกาข้อแรกว่าความผิดฐานแจ้งความเท็จเกิดที่ตำบลสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลกจังหวัดนราธิวาส พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนราธิวาสจังหวัดนราธิวาส ไม่มีอำนาจสอบสวน พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและพนักงานสอบสวนไม่ได้ขอผัดฟ้องต่อศาลในข้อหาดังกล่าวศาลไม่ควรประทับฟ้อง ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์ จำเลยนำสืบว่าผู้เสียหาย สาขาสุไหงโก-ลก นำเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขานราธิวาส ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส และธนาคารดังกล่าวปฏิเสธการจ่ายเงินผู้เสียหายจึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ให้ดำเนินคดีจำเลยในข้อหาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 ปรากฏว่าจำเลยได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนอำเภอสุไหงโก-ลกว่าเช็คฉบับดังกล่าวหายไป ซึ่งพนักงานอัยการเห็นว่าการแจ้งความดังกล่าวเป็นความผิดฐานฉ้อโกงและแจ้งความเท็จ จึงสั่งให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส สอบสวนเพิ่มเติมและแจ้งข้อหาต่อจำเลยเพิ่มเติม ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ย่อมมีอำนาจสอบสวนจำเลยในข้อหาดังกล่าวได้ เพราะจำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 19(4) และเมื่อเป็นความผิดหลายกระทงโจทก์ย่อมฟ้องรวมในฟ้องเดียวกันได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 160ทั้งความผิดฐานแจ้งความเท็จมีอัตราโทษเบากว่าความผิดฐานฉ้อโกงและความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คแม้จะเป็นการกระทำต่างกรรม ต่างสถานที่ แต่ก็ได้กระทำลงโดยจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดคนเดียวกัน และเป็นความผิดเกี่ยวพันกันซึ่งจะฟ้องคดีทุกเรื่องต่อศาลที่มีอำนาจชำระในฐานความผิดซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่าก็ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 24กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520โจทก์จึงฟ้องจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จ โดยไม่ต้องขอผัดฟ้องพร้อมกับความผิดฐานฉ้อโกงและความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คได้ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายขอให้ลงโทษจำเลยสถานเบา และรอการลงโทษให้จำเลย เห็นว่า จำเลยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลสุไหงโก-ลกและเคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาสระหว่าง พ.ศ. 2529 ถึง พ.ศ. 2531 ประกอบคุณงามความดี ช่วยเหลือทางราชการและสาธารณประโยชน์ของท้องถิ่น ไม่ปรากฏว่า จำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความกับจำเลยเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไปโดยให้รอการลงโทษไว้ แต่สมควรลงโทษปรับจำเลยด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลย 2,000 บาท อีกสถานหนึ่งสำหรับโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3