คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2369/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 วรรคสี่ บัญญัติว่า ทรัพย์ส่วนกลาง หมายความว่า ส่วนของอาคารชุดที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด และที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม ส่วนการจัดการทรัพย์ส่วนกลางต้องเป็นไปตามมาตรา 17, 33, 36 และ 37 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คือ ต้องมีนิติบุคคลเพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ดังนี้ย่อมเห็นได้ว่า นิติบุคคลอาคารชุดไม่มีหน้าที่รักษาทรัพย์ส่วนบุคคลแต่ประการใด การที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนิติบุคคลอาคารชุดดังกล่าวได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ทำการรักษาความปลอดภัยให้แก่บรรดาทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ย่อมหมายถึงทรัพย์ส่วนกลางเท่านั้น ไม่รวมไปถึงรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลของโจทก์ แม้หลังทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 3 ได้แจ้งระเบียบรักษาความปลอดภัย เช่น การตรวจสอบสติกเกอร์ที่ติดรถยนต์ การรับบัตรอนุญาตจอดรถยนต์ และตรวจสอบการขนของเข้าออกอาคาร ก็เป็นเพียงมาตรการให้เกิดความปลอดภัยหรือความสงบเรียบร้อยในอาคารชุด หาได้มีความหมายครอบคลุมไปถึงการรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์ส่วนบุคคลไม่ นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 2 ยังมีลักษณะเป็นการทำแทนเพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมทุกคนรวมทั้ง ส. ผู้ครอบครองรถยนต์ของโจทก์ด้วย เงินที่ใช้ในการว่าจ้างก็มาจากเงินที่เจ้าของร่วมทุกคนชำระเป็นเงินกองทุนและเงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางนั่นเอง ดังนี้แม้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับจ้างจะต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์เนื่องจากจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้คนร้ายลักรถยนต์ของโจทก์ไป จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าของร่วมในการว่าจ้างจำเลยที่ 2 รักษาความปลอดภัย ก็ไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันคืนรถยนต์คันพิพาทหรือร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 394,193 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันคืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ หรือร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหาย 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าธรรมเนียม (ที่ถูก ค่าขึ้นศาล) ให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ในศาลชั้นต้น และค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นผู้เช่าซื้อและครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน สฬ 9768 กรุงเทพมหานคร โจทก์มอบให้นายสมบูรณ์ เป็นผู้ใช้รถยนต์คันดังกล่าว นายสมบูรณ์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดเลขที่ 8/219 ในอาคารชุดเซ็นทรัล รัชโยธิน ปาร์ค จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ทำการรักษาความปลอดภัยที่อาคารชุดเซ็นทรัลรัชโยธิน ปาร์ค มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 สิ้นสุดวันที่ 1 ธันวาคม 2553 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2553 เวลาประมาณ 2 นาฬิกา นายสมบูรณ์ขับรถยนต์ของโจทก์ไปจอดไว้ที่ชั้น 5 ของอาคารจอดรถภายในอาคารชุดเซ็นทรัล รัชโยธิน ปาร์ค ต่อมาเวลา 11.30 นาฬิกา มีคนร้ายลักรถยนต์คันดังกล่าวไป โดยในช่วงเวลานั้นจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 รักษาความปลอดภัยที่บริเวณทางเข้าออกของอาคารจอดรถด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้คนร้ายลักรถยนต์ของโจทก์ไปได้อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดนั้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 วรรคสี่ บัญญัติว่า ทรัพย์ส่วนกลาง หมายความว่า ส่วนของอาคารชุดที่มิใช่ห้องชุดที่ดินที่ตั้งอาคารชุด และที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม ส่วนการจัดการทรัพย์ส่วนกลางต้องเป็นไปตามมาตรา 17, 33, 36 และ 37 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คือ ต้องมีนิติบุคคลอาคารชุดซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดตามมติเจ้าของร่วมภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินั้นและตามข้อบังคับโดยมีผู้จัดการหรือคณะกรรมการเป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์ส่วนกลาง ดังนี้ย่อมเห็นได้ว่า นิติบุคคลอาคารชุดไม่มีหน้าที่รักษาทรัพย์ส่วนบุคคลแต่ประการใด จำเลยที่ 3 จึงมีเพียงหน้าที่ในการจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดที่เกิดเหตุ รวมทั้งมีอำนาจกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวตามข้อบังคับและมติของเจ้าของร่วมเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดที่ระบุในข้อที่ 6. ว่า จำเลยที่ 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการดูแลทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดและให้มีอำนาจกระทำการใด ๆ ตามวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สูงสุดในการพักอาศัยและการใช้ทรัพย์ส่วนกลางร่วมกันสัญญาที่จำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 รักษาความปลอดภัย ก็มีข้อความระบุชัดเจนในข้อ 1. ว่า จำเลยที่ 3 จ้างจำเลยที่ 2 รักษาความปลอดภัยให้แก่บรรดาทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ซึ่งย่อมหมายถึงทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดเซ็นทรัลรัชโยธิน ปาร์ค เท่านั้น ไม่รวมไปถึงรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลของโจทก์ในความครอบครองของนายสมบูรณ์แต่อย่างใด แม้จะได้ความตามคำเบิกความของนางสาวรุ่งทิพย์ ผู้จัดการอาคารชุด จำเลยที่ 3 ว่า ภายหลังทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 3 ได้แจ้งระเบียบรักษาความปลอดภัยซึ่งได้มาจากการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะแนวทางป้องกันการโจรกรรมทรัพย์สินจากคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดและเจ้าของร่วม เช่น การตรวจสอบสติกเกอร์ที่ติดรถยนต์ การรับบัตรอนุญาตจอดรถยนต์ และการตรวจสอบการขนของเข้าออกอาคารตามระเบียบรักษาความปลอดภัย แต่ก็เป็นเพียงมาตรการให้เกิดความปลอดภัยหรือความสงบเรียบร้อยในอาคารชุด ทั้งเป็นการควบคุมผู้ใช้สอยอาคารจอดรถซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนกลางในอาคารชุด มิให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้เท่านั้น หาได้มีความหมายครอบคลุมไปถึงการรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์ส่วนบุคคลของผู้ใดเพราะไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 3 พฤติการณ์เช่นว่านั้นจึงไม่ก่อให้เกิดหน้าที่แก่จำเลยที่ 3 ในอันที่จะต้องดูแลรักษาความปลอดภัยแก่รถยนต์อันเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลของผู้เป็นเจ้าของร่วมดังที่โจทก์อ้าง นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 2 รักษาความปลอดภัยยังมีลักษณะเป็นการทำแทนเพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมทุกคนในอาคารชุดรวมทั้งนายสมบูรณ์ผู้ครอบครองรถยนต์ของโจทก์ด้วย เงินที่ใช้ในการว่าจ้างจำเลยที่ 2 ก็มาจากเงินที่เจ้าของร่วมทุกคนชำระเป็นเงินกองทุนและเงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางนั่นเอง ดังนี้แม้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับจ้างจะต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์เนื่องจากจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าของร่วมในการว่าจ้างจำเลยที่ 2 รักษาความปลอดภัย ก็ไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share