คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2367/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หลังจากเจ้ามรดกตายโจทก์และมารดาจำเลยซึ่งเป็นทายาทได้ร่วมกันครอบครองที่มรดกระยะหนึ่ง แม้โจทก์จะออกจากที่พิพาทไปนานเท่าใดก็ถือว่ามารดาจำเลยครอบครองแทนโจทก์ การที่จำเลยอยู่ในที่พิพาทต่อมาจึงอยู่ในฐานะเดียวกับมารดา ถือว่าโจทก์จำเลยครอบครองที่พิพาทร่วมกันและเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกดังกล่าว โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์ซึ่งตนเป็นเจ้าของรวมได้จะนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และนางหลงมาเป็นบุตรนางเพ็งเจ้ามรดกซึ่งมีมรดกที่ดิน 1 แปลง โจทก์และนายหลงมาครอบครองมานับแต่เจ้ามรดกตายต่อมานางหลงมาตายจำเลยซึ่งเป็นบุตรนางหลงมาได้ครอบครองที่พิพาทร่วมกับโจทก์โจทก์จะต่อเติมบ้านจำเลยคัดค้านว่าเป็นที่ของจำเลยตาม น.ส.3 ที่มีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของ ขอให้พิพากษาว่าโจทก์จำเลยมีสิทธิในที่พิพาทร่วมกัน ให้จำเลยดำเนินการใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวมมิฉะนั้นให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลยผู้เดียว จำเลยได้รับโอนมาทางมรดกและครอบครองมา 30 ปีแล้ว จึงไปขอออก น.ส.3ก.โจทก์เพิ่งมาอาศัยปลูกบ้านในที่พิพาท เมื่อโจทก์จะต่อเติมบ้านโดยพลการจำเลยจึงคัดค้านคดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ตาย นางทองบุตรโจทก์ขอเข้าเป็นคู่ความแทน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หลังจากนางเพ็งเจ้ามรดกตาย โจทก์และมารดาจำเลยผู้เป็นทายาทได้ร่วมกันครอบครองที่พิพาทอันเป็นมรดกระยะหนึ่งแล้วแม้โจทก์จะออกจากที่พิพาทไปนานเท่าใด ก็ถือว่ามารดาจำเลยที่ยังอยู่ครอบครองแทนโจทก์การที่จำเลยอยู่ในที่พิพาทต่อมาจึงอยู่ในฐานะเดียวกับมารดาของตนคือครอบครองแทนโจทก์เช่นกัน โจทก์จึงยังมีสิทธิในที่พิพาทอันเป็นมรดกรายนี้….. ฯลฯ โจทก์จำเลยผู้มีสิทธิได้รับมรดกคือที่พิพาทได้ครอบครองที่พิพาทร่วมกันมา ถือได้ว่าได้ร่วมกันรับมรดกดังกล่าวและเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกดังกล่าวนั้นแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์ซึ่งตนเป็นเจ้าของร่วมได้จะนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับหาได้ไม่
พิพากษากลับ เป็นว่าโจทก์กับจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ให้จำเลยดำเนินการให้เจ้าพนักงานที่ดินใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของร่วมกับจำเลยมิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย.

Share