คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2361/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานบุกรุกนั้น ข้อวินิจฉัยที่ว่าที่ดินพิพาทที่จำเลยเข้ามาสร้างบ้านสองชั้นเป็นของโจทก์หรือไม่ เป็นปัญหาโดยตรงในการวินิจฉัยคดีส่วนอาญา ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาซึ่งถึงที่สุดแล้วดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 โดยต้องฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จะให้ฟังว่าเป็นของจำเลยหรือเป็นลำห้วยสาธารณประโยชน์หรือออกโฉนดที่ดินทับลำห้วยสาธารณประโยชน์มิได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 18160 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อประมาณต้นปี 2529 จำเลยบุกรุกเข้าปลูกสร้างบ้านสองชั้นลงบนที่ดินบางส่วนของโจทก์บริเวณด้านหน้าของที่ดินโจทก์ที่ติดกับถนนเพชรเกษม โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในความผิดฐานบุกรุก ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดลงโทษจำคุกจำเลย แต่จำเลยยังมิได้รื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านสองชั้นเลขที่ 719/14 ถนนเพชรเกษม ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี กับขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 18160 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี กับขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 18160 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี แล้วส่งมอบที่ดินในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 400,000 บาท กับอีกเดือนละ 5,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะรื้อถอนบ้านกับขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดิน
จำเลยให้การว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทและปลูกบ้านเลขที่ 719/14 ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและปลูกพืชยืนต้น พืชล้มลุก ติดต่อกันตลอดมาตั้งแต่ปี 2513 ก่อนที่โจทก์จะขอออกโฉนดที่ดินเลขที่ 18160 การออกโฉนดที่ดินของโจทก์ทับที่ดินพิพาทของจำเลยและยังทับลำห้วยสาธารณประโยชน์อีกด้วย จึงถือได้ว่าเป็นการออกโฉนดที่ดินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หาทำให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไม่ โฉนดที่ดินของโจทก์ต้องถูกเพิกถอน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย หากโจทก์ขาดประโยชน์ก็ไม่ควรเกินเดือนละ 500 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 719/14 ถนนเพชรเกษม ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี กับขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท และให้ชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 40,000 บาท และอีกเดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกไปจากที่ดินพิพาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกิน 9,000 บาท แก่จำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 18160 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 17 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา เมื่อประมาณปี 2529 จำเลยเข้ามาปลูกสร้างบ้านสองชั้นในโฉนดที่ดินดังกล่าวของโจทก์คิดเป็นเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 39 ตารางวา ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในความผิดฐานบุกรุก ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีถึงที่สุดแล้วให้ลงโทษจำคุกจำเลย แต่จำเลยไม่ยอมรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินของโจทก์ดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องคดีนี้
ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกจำเลยฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติว่า “ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา” เมื่อคดีอาญาข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทที่จำเลยบุกรุกเข้ามาสร้างบ้านสองชั้นเป็นของโจทก์ ด้วยเหตุนี้จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ขอออกโฉนดที่ดินทับที่ดินของจำเลยหรือออกโฉนดที่ดินทับลำห้วยสาธารณประโยชน์หาได้ไม่ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ดังกล่าวเป็นการไม่ชอบ เพราะหากมีการออกโฉนดที่ดินที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 ก็ย่อมถูกเพิกถอนได้นั้น เห็นว่า ในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานบุกรุกนั้น ข้อวินิจฉัยที่ว่าที่ดินพิพาทที่จำเลยเข้ามาสร้างบ้านสองชั้นเป็นของโจทก์หรือไม่เป็นปัญหาโดยตรงในการวินิจฉัยคดีส่วนอาญา ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งนี้ ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาซึ่งถึงที่สุดแล้วดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 โดยต้องฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์จะให้ฟังว่าเป็นของจำเลยหรือเป็นลำห้วยสาธารณประโยชน์หรือออกโฉนดที่ดินทับลำห้วยสาธารณประโยชน์มิได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยชอบแล้ว…”
พิพากษายืน

Share