คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 236/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อข้อความในสัญญาซื้อขายระบุเรื่องการชำระราคาสินค้าไว้ขัดแย้งกันไม่อาจรับฟังเป็นยุติไปในทางใดได้ จึงเป็นเรื่องที่คู่กรณีต้องนำสืบให้เห็นว่าแท้จริงเรื่องนี้ได้ตกลงกันไว้อย่างไรไม่เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารอันจะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 จำเลยให้การรับว่าทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์ตามฟ้อง จึงไม่ใช่กรณีที่จะต้องใช้สัญญาซื้อขายเป็นพยานหลักฐาน แม้สัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ก็ถือว่ามีหลักฐานเป็นหนังสือใช้ฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาซื้ออ้อยจากโจทก์เป็นเงิน 250,000บาท ชำระเงินแล้ว 100,000 บาท ยังค้างอีก 150,000 บาทโจทก์ทวงถามแล้วไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยให้การว่า จำเลยทำสัญญาซื้อขายอ้อยกับโจทก์จริง แต่ได้ชำระเงินจำนวน 250,000 บาท ให้โจทก์แล้วตั้งแต่วันทำสัญญาโจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าอ้อยอีกไม่ได้เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์จำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2527จนกว่าชำระเสร็จ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาแรกที่ว่าการสืบพยานของโจทก์เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารหรือไม่นั้น ตามคำฟ้องคำให้การฟังยุติว่า โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายอ้อยกันปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งในเรื่องการชำระเงินค่าอ้อยที่ซื้อขายกันนั้นมีข้อความในสัญญาข้อ 1 ตอนท้ายว่า “และผู้ขายได้รับราคาดังกล่าวแล้วไปจากผู้ซื้อเสร็จแล้วแต่วันที่ 8 เดือนกุมภาพันธ์พ.ศ. 2525 ในราคาไร่ละ 5,000 บาท รวมที่ 50 ไร่ เป็นเงินประมาณ 250,000 บาท” และมีข้อความในสัญญาข้อ 3 ว่า “ผู้ขายและผู้ซื้อทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันซื้ออ้อยสด ในราคาไร่ละ 5,000 บาทเมื่อตัดอ้อยส่งเข้าโรงงานเรียบร้อยแล้วผู้ซื้อจะต้องรีบนำเงินมาใช้ค่าอ้อยของผู้ขายในจำนวนที่ตกลงกันไว้” จะเห็นได้ว่าข้อความในสัญญาหมาย จ.1 ในเรื่องการชำระเงินค่าอ้อยนั้นระบุไว้เป็นการขัดแย้งกัน เมื่อข้อความในเอกสารไม่อาจจะรับฟังให้ยุติไปในทางใดได้เช่นนี้ กรณีจึงเป็นเรื่องที่คู่กรณีต้องนำสืบให้เห็นว่า แท้จริงเรื่องนี้ได้ตกลงกันไว้อย่างไร ไม่เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารอันจะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการที่สองที่ว่าจำเลยชำระเงินค่าอ้อยให้โจทก์ครบแล้วหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงยุติว่า ได้ชำระเงินค่าอ้อยกันไปแล้ว 100,000 บาท คงโต้เถียงกันว่าค่าอ้อยอีก 150,000 บาทนั้น จำเลยชำระให้โจทก์แล้วหรือไม่ พิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบมาแล้วการซื้อขายอ้อยตามสัญญาหมาย จ.1 มีระยะเวลาในการที่จะต้องตัดอ้อยเพื่อนำไปขายให้โรงงาน ถึง 3 ปีเมื่อพิจารณาถึงเหตุผลโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว การชำระเงินค่าอ้อยตามสัญญาหมาย จ.1 จึงน่าจะเป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาข้อ 3คือชำระตามรายปีที่มีการตัดอ้อยส่งโรงงาน เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่จำเลยจะชำระเงินค่าอ้อยทั้งหมดจำนวนถึง 250,000 บาทให้โจทก์ก่อนเป็นเวลานาน โดยที่จำเลยยังไม่ได้ประโยชน์อะไรทั้งที่จำเลยเองก็เบิกความรับว่ายังเป็นหนี้โรงงานน้ำตาลอยู่ประมาณ 400,000 บาท ส่วนที่จำเลยว่าได้ชำระเงินให้โจทก์ในวันรุ่งขึ้นจากวันทำสัญญา 150,000 บาท โดยเบิกความว่า”วันรุ่งขึ้นพบโจทก์ที่ตลาดสวรรคโลก ข้าพเจ้าจึงชำระเงินที่ค้างอีก 150,000 บาทให้แก่โจทก์ การชำระเงินดังกล่าวนั้นไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือไว้เนื่องจากไว้ใจโจทก์” นั้นก็ไม่มีเหตุผลที่จะให้ฟังได้ เพราะการชำระเงิน 150,000 บาท ย่อมเป็นจำนวนเงินไม่น้อย ถ้ามิได้นัดหมายกันไว้ก่อนแล้วอยู่ ๆ พบกันจะมีการชำระเงินกันโดยไม่ทำหลักฐานอะไรไว้เลยดูจะเป็นเรื่องที่ขัดต่อเหตุผลเมื่อข้ออ้างของจำเลยที่อ้างว่าได้ชำระเงินค่าอ้อยจำนวน 150,000 บาทให้โจทก์แล้วในวันรุ่งขึ้นจากวันทำสัญญาฟังไม่ได้ และข้อเท็จจริงจากการนำสืบของจำเลยก็ไม่ปรากฏว่ามีการชำระเงินค่าอ้อยกันหลังจากตัดอ้อยส่งโรงงานในปีที่สามแล้ว จึงต้องฟังตามคำเบิกความของโจทก์ว่าจำเลยยังมิได้ชำระเงินค่าอ้อยที่ค้างอีก 150,000 บาทให้โจทก์ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาประการสุดท้ายเรื่องสัญญาซื้อขายอ้อยเอกสารหมาย จ.1มิได้ปิดอากรแสตมป์ จะใช้เป็นพยานหรือหลักฐานในการฟ้องคดีได้หรือไม่นั้น คดีนี้ตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การจำเลยรับว่าได้ทำสัญญาซื้อขายกันตามเอกสารหมาย จ.1 จึงไม่ใช่กรณีที่จะต้องใช้เอกสารหมาย จ.1 เป็นพยานหลักฐาน ดังนั้น แม้สัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 นั้น จะไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ก็ถือว่ามีหลักฐานเป็นหนังสือใช้ฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามกฎหมาย”
พิพากษายืน

Share