คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2358/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่จำเลยจะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้จะต้องเป็นเรื่องที่จำเลยขาดนัดพิจารณาและศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาเสียก่อน การที่จำเลยไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานจำเลย และศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยประวิงคดีไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและถือว่าจำเลยไม่ติดใจนำพยานเข้าสืบนั้นมิใช่เรื่องจำเลยขาดนัดพิจารณาจำเลยจะขอให้พิจารณาคดีใหม่หาได้ไม่
แม้จะพิจารณาจากฎีกาของจำเลยที่ขอให้พิจารณาคดีดังกล่าวใหม่ว่าจำเลยมุ่งหมายที่จะให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีแล้วให้จำเลยนำพยานเข้าสืบ แต่คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งจำเลยจะต้องโต้แย้งเสียก่อนจึงจะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ เมื่อมิได้โต้แย้งไว้ก็อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไม่ได้ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ในข้อนี้ให้จำเลยก็หามีสิทธิฎีกาต่อมาไม่ ศาลฎีกาย่อมให้ยกฎีกาของจำเลยดังกล่าว
โจทก์เป็นผู้เยาว์ช่วยมารดาขายของ นำของไปเร่ขายวันหนึ่งมีกำไร 10 บาทแม้จะเป็นการช่วยมารดาขายของ ก็เป็นการประกอบอาชีพอันเป็นความสามารถในการประกอบการงานและทางทำมาหาได้ของโจทก์นั่นเอง เมื่อโจทก์สามารถขายของมีกำไรวันละ 10 บาท และโจทก์ต้องเสียความสามารถดังกล่าวไปเพราะการละเมิดของจำเลย จำเลยก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ อันเป็นค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วนทั้งในเวลาปัจจุบันและในอนาคตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 และในการคิดค่าเสียหาย ศาลชอบที่จะคิดจากการที่โจทก์เคยมีรายได้วันละ 10 บาทได้ หาใช่ว่าหากก่อนเกิดเหตุโจทก์ไม่ได้ทำงานทุกวัน จะต้องหักวันที่โจทก์ไม่ทำงานออกเสียก่อนไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายแก่กายสาหัส จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนรวมเป็นเงิน35,850 บาท

โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลอนุญาต

จำเลยที่ 2 ให้การว่า ไม่ได้เป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 โจทก์ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยเพราะความผิดของโจทก์เอง ค่าเสียหายที่เรียกร้องสูงเกินไป และค่าเสียหายบางอย่างโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ใช้เงินแก่โจทก์เป็นค่ารักษาพยาบาล 1,000 บาท ค่ารถไปโรงพยาบาล 3,600 บาท ค่าขาดรายได้วันละ 10 บาท เป็นเวลา 2 ปี เป็นเงิน 7,300 บาท และค่าได้รับบาดเจ็บ15,000 บาท รวม 26,900 บาท

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ในเรื่องค่าเสียหาย และขอให้พิจารณาคดีใหม่โดยให้จำเลยนำพยานเข้าสืบ

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วไม่เชื่อว่าโจทก์จ่ายค่ารักษาพยาบาล1,000 บาท และเห็นว่าค่ารถไปโรงพยาบาลควรได้รับเพียง 2,880 บาทค่าขาดประโยชน์เห็นด้วยกับศาลชั้นต้น แต่ค่าสินไหมทดแทนที่ป่วยเจ็บต้องทนทุกข์ทรมานเห็นควรให้เพียง 10,000 บาท สำหรับที่จำเลยที่ 2ขอให้พิจารณาคดีใหม่เห็นว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีเป็นการชอบแล้ว พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่าให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ 20,180 บาท

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น เห็นว่า กรณีที่จำเลยจะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้จะต้องเป็นเรื่องที่จำเลยขาดนัดพิจารณา และศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาเสียก่อน แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยประวิงคดีไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดี และถือว่าจำเลยไม่ติดใจนำพยานเข้าสืบ จึงมิใช่เรื่องจำเลยขาดนัดพิจารณา จำเลยจะขอให้พิจารณาคดีใหม่หาได้ไม่และถึงแม้จะพิจารณาจากฎีกาของจำเลยที่ขอให้พิจารณาคดีใหม่ว่า จำเลยมุ่งหมายที่จะให้ศาลฎีกายกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดี แล้วให้จำเลยนำพยานเข้าสืบ ก็เห็นว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) จำเลยที่ 2 จะต้องโต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นเสียก่อนจึงจะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนี้ได้ แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2516 และนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 22 เดือนเดียวกัน จำเลยที่ 2 มีโอกาสพอที่จะโต้แย้งคำสั่งนั้นได้ แต่มิได้โต้แย้งไว้ จึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไม่ได้ ดังนั้น แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ให้ จำเลยก็หามีสิทธิฎีกาต่อมาไม่ ให้ยกฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้เสีย

ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ช่วยมารดาขายของ หาใช่โจทก์มีอาชีพขายของมีรายได้ของตัวเองไม่ โจทก์จึงไม่ควรได้รับค่าขาดประโยชน์ในทางทำมาหาได้นั้น พิเคราะห์แล้ว การที่โจทก์ช่วยมารดาขายของและโจทก์นำของไปเร่ขายวันหนึ่งมีกำไร 10 บาท เห็นว่าถึงแม้จะเป็นการช่วยมารดาขายของ ก็เป็นการประกอบอาชีพอันเป็นความสามารถในการประกอบการงานและทางทำมาหาได้ของโจทก์นั่นเอง นอกจากนี้ที่จำเลยยกเอาคำเบิกความของนางอรุณีย์ที่ว่า “ไม่คิดว่าลูกจะมาหา” เพื่อแสดงว่าโจทก์ไม่ได้มาช่วยขายของทุกวัน จึงไม่ควรได้รับชดใช้วันละ 10 บาททุกวันนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อโจทก์สามารถขายของมีกำไรวันละ 10 บาท และโจทก์ต้องเสียความสามารถดังกล่าวไป จำเลยก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ อันเป็นค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วนทั้งในเวลาปัจจุบันและในอนาคตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 ซึ่งกรณีนี้ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยชดใช้ให้โจทก์เป็นเวลา 2 ปีเป็นเงิน 7,300 บาท โดยคิดจากการที่โจทก์เคยมีรายได้วันละ 10 บาทถือได้ว่าเป็นการกำหนดตามจำนวนที่สมควรแก่ฐานะของโจทก์แล้ว หาใช่ว่าหากก่อนเกิดเหตุโจทก์ไม่ได้ทำงานทุกวัน จะต้องหักวันที่โจทก์ไม่ทำงานออกเสียก่อนไม่ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ให้ชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับบาดเจ็บเป็นเงิน 10,000 บาท ยังสูงเกินไป เพราะไม่ปรากฏว่าโจทก์เสียความสามารถในการประกอบการงานแค่ไหน เพียงแต่ได้ความว่ายังเดินไม่คล่องเท่านั้น จำเลยที่ 2 เห็นสมควรให้เพียง 2,000 บาทศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว จำนวนเงินที่จำเลยต้องชดใช้ให้โจทก์ในกรณีนี้ คือค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าบาดเจ็บที่โจทก์ได้รับนั้น ขาซ้ายเนื้อฉีกขาดต้องเข้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลา 2 เดือน 23 วัน แม้ออกจากโรงพยาบาลแล้ว โจทก์ยังต้องไปโรงพยาบาลเพื่อทำแผลตลอดมาจนถึงวันเบิกความต่อศาล เป็นเวลานับจากนอนอยู่ที่โรงพยาบาลถึง 10 เดือนเศษ ขณะเบิกความแผลยังไม่หาย มีหนองและยังมีอาการปวดโจทก์ยังเดินไม่คล่อง ต้องหยุดการเรียนตั้งแต่เกิดเหตุจนวันมาเบิกความ โจทก์ได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัส ต้องทนทุกขเวทนา ไม่สามารถประกอบกรณียกิจตามปกติศาลอุทธรณ์คิดให้ 10,000 บาท เหมาะสมดีแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share